สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อายุวัฒนมงคล 93 ปี

อริยะโลกที่ 6

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2561 ถือเป็นวันมงคลฤกษ์ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” จะมีอายุครบรอบ 93 ปี เหล่าศิษย์ผู้ใกล้ชิดและญาติโยมผู้เลื่อมใส จะได้ร่วมกันจัดงานมุทิตาจิตฉลองอายุวัฒนมหามงคล เป็นประจำทุกปี

ปัจจุบัน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) สิริอายุ 93 ปี พรรษา 73 ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

มีนามเดิมว่า ช่วง สุดประเสริฐ เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2468 ที่บ้านเลขที่ 32 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นบุตรชายคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 4 คน ของนายมิ่งและนางสำเภา สุดประเสริฐ

ขณะมีอายุ 7 ขวบ นายมิ่ง ผู้เป็นบิดาถึงแก่กรรม ญาติจึงให้ ด.ช.ช่วงและพี่ชาย บรรพชาหน้าไฟตามประเพณี หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว พี่ชายได้ลาสิกขา แต่ท่านยังคงบรรพชาอยู่ระยะหนึ่งจึงได้ ลาสิกขา

หลังจากนั้น ชีวิตเริ่มผูกพันกับวัดในละแวกใกล้บ้าน คือ วัดสังฆราชาและวัดลาดกระบัง และสำเร็จการศึกษาชั้น ป.4 ของโรงเรียนประชาบาลวัดสังฆราชา

ครั้นอายุ 14 ปี จึงบรรพชาอีกครั้ง เมื่อ วันที่ 1 พ.ค.2482 ที่วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ โดยมีพระครูศีลาภิรัต วัดลาดกระบัง เป็นพระอุปัชฌาย์

จากนั้น มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรมและสอบนักธรรมชั้นตรี-โท ได้ในสำนักศาสนศึกษาวัดสังฆราชา ในระหว่างนั้น ได้ทราบกิตติคุณของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เกิดความปรารถนาจะเข้ามาศึกษาต่อภายใต้ร่มบารมีธรรมของหลวงพ่อสด

พ.ศ.2484 ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปากน้ำ โดยพระแจ่ม วัดสังฆราชา เป็นผู้นำมาฝากกับหลวงพ่อวัดปากน้ำและได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2488 ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

โดยมีพระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ด้วยความขยันและตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ท่านจึงสอบได้มาโดยลำดับ เมื่อถึงชั้นสูง หลวงพ่อสด นำพระช่วงไปฝากกับสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภโณ) เพื่อให้ศึกษาในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

พ.ศ.2497 หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค หลวงพ่อสดไปรับตัวท่านกลับมาช่วยงานที่วัดปากน้ำ เพื่อสานต่องานและโครงการที่หลวงพ่อริเริ่มไว้

ภายหลังการมรณภาพของหลวงพ่อสด ในเวลาต่อมา ท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สืบต่อมาจนถึงกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สร้างผลงานอันทรงคุณูปการในหลากหลายด้าน อาทิ งานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ งานด้านการศึกษา งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศ เป็นต้น

ลำดับงานปกครองสงฆ์ พ.ศ.2500 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2508 เป็นเจ้าคณะภาค 3 พ.ศ.2517 เป็นเจ้าคณะภาค 17 พ.ศ.2528 เป็นเจ้าคณะภาค 7 พ.ศ.2532 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม จนถึงปัจจุบัน

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2499 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีวิสุทธิโมลี พ.ศ.2505 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที พ.ศ.2510 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวรเวที พ.ศ.2516 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวรเวที พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ที่พระธรรมปัญญาบดี

พ.ศ.2539 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

กำหนดการพิธีบำเพ็ญกุศลอายุวัฒนมงคล ครบ 93 ปี สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) ระหว่างวันที่ 25-26 ส.ค.2561 มีดังนี้

วันเสาร์ที่ 25 ส.ค. เวลา 09.00 น. คณะสงฆ์หนเหนือ ประกอบพิธีสืบชะตาหลวง ตามประเพณีล้านนาถวาย

วันอาทิตย์ที่ 26 ส.ค. เวลา 09.00 น. คณะสงฆ์วัดปากน้ำ ประกอบพิธีหล่อหัวใจพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ปางสมาธิ ที่บริเวณหน้าพระอุโบสถ เวลา 10.00 น. เจริญพระพุทธมนต์ เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล บริเวณโดยรอบพระอุโบสถ

93 ปีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จึงถือเป็นหลักไมล์สำคัญบนเส้นทางสายธรรมโดยแท้

ทั้งเป็นต้นแบบให้กับพระภิกษุ-สามเณรรุ่นหลัง ก้าวเดินตามรอยธรรม

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

ชาดก เป็นเรื่องเล่าคล้ายกับนิทาน นิยมเรียกกันว่า นิทานชาดก ต่างกันก็ตรงที่ว่า นิทานทั่วไปส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นจึงมีทั้งที่จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ต่างจากนิทานชาดก ซึ่งเป็นเรื่องจริงเพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าไว้ ให้กับพุทธบริษัททั้งหลายฟังในโอกาสต่างๆ

ในองค์ประกอบสำคัญอีกประการของนิทานชาดกนั้นก็คือว่า ชาดกทุกเรื่องจะต้องมี

1.การปรารภเรื่อง ซึ่งเป็นเสมือนบทนำ หรือการกล่าวถึงสาเหตุว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสเล่าชาดกเรื่องนี้ๆ

2.อดีตนิทาน คือตัวเนื้อเรื่องชาดกนั้นๆ ในชาติก่อนๆ มา

3.ประชุมชาดก คือเป็นเหมือนบทสรุปสุดท้ายที่จะกล่าวถึงสัตว์หรือบุคคลในชาดกนั้นๆ ว่าได้กลับชาติมาเกิดเป็นใครในพุทธกาลนี้

หากจะมองในแง่มุมนี้ การตรัสชาดกของพระพุทธองค์ก็รวมลงอยู่ในหลักการสอนอย่างหนึ่งในทางพระพุทธ ศาสนาที่เรียกว่า บุคลาธิษฐาน การสอนที่ยกสิ่งเป็นรูปธรรม เช่น บุคคล สถานที่ เป็นต้น ขึ้นเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องนั้นได้ง่าย ซึ่งวิธีนี้ บรรพบุรุษของเราก็เคยใช้กล่อมเกลาจริตอัธยาศัยของลูกหลานไทยมาเป็นเวลาช้านาน จนมีนิทานเรื่องเล่าสำหรับสอนเด็กมาทุกยุคสมัย

ดังนั้น การเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง จึงไม่ใช่สิ่งที่คร่ำครึหรือล้าหลัง ยิ่งถ้าเป็นนิทานชาดก ผู้เล่าก็ไม่ต้องเกรงว่าจะถูกกล่าวหาจากผู้ฟังว่ามุสา เพราะว่าเป็นเรื่องจริงทั้งนั้น แม้ว่าจะคนละยุคสมัย แต่ให้เชื่อมั่นเถิดว่า อันหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน ล้วนเป็นอกาลิโก คือ ไม่จำกัดกาลเวลาในการให้ผล ย่อมสามารถแผ่ซึมซาบเข้าถึงจิตใจคนผู้รับฟังได้อย่างแน่แท้

หนังสือ “ธรรมะจากชาดก” เล่มนี้ เป็นส่วนหนึ่ง ในการร่วมรณรงค์คนในสังคมไทยให้หันมาดำรงตนตามแนวทางวิถีพุทธ วิธีธรรม อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขทั้งในชีวิตส่วนตน ครอบครัว และสังคม โดยรวมได้ เพราะเนื้อหาในหนังสือสื่อถึงผลของการทำดี-ชั่วให้เห็นกันอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นคู่มือในการสอนตน สอนลูกหลาน ผ่านนิทานที่เป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ที่เหล่าพุทธศาสนิกชนไทยให้ความนับถือว่าเป็นสรณะอันสูงสุดของชีวิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน