พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

วัดสุวรรณาราม เดิมชื่อว่า “วัดทอง” ตั้งอยู่ในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี เป็นวัดโบราณที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้รื้อวัดทองเดิม แล้วสถาปนาขึ้นใหม่ทั่วทั้งพระอาราม และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสุวรรณาราม” แต่ชาวบ้านก็ยังคงเรียกติดปากกันว่า “วัดทอง”

นอกเหนือจากความงดงามและคุณค่าของ “จิตรกรรมฝาผนัง” ในพระอุโบสถ อันเป็นผลงานของจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ ครูทองอยู่และครูคงเป๊ะ ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักแล้ว “วัดทอง” ยังเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในแวดวงนักสะสมพระเครื่อง ด้วย “พระพิมพ์” ซึ่งเป็นมรดกของ หลวงพ่อทับ อินทโชติ อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ 9 ของวัดทอง

นั่นคือ “พระปิดตามหาอุด” ที่มีพุทธคุณและพุทธศิลป์เป็นเลิศ เรียกได้ว่า “เป็นที่นิยมแสวงหาควบคู่กันมากับพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เลยทีเดียว” และยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “เบญจภาคีเนื้อโลหะ” อีกด้วย

พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี หรือ หลวงพ่อทับ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2390 ตรงกับวันเสาร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปีมะแม ที่บ้านคลองชักพระ บางกอกน้อย ธนบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายทิม-นางน้อย ปัทมานนท์

อายุได้ 17 ปี บิดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์ของพระปลัดแก้ว รักษาการเจ้าอาวาสวัดทอง ในช่วงก่อนที่พระศีลาจารพิพัฒน์(ศรี) จะย้ายจากวัดสุทัศนเทพวรารามมาเป็นเจ้าอาวาส เพื่อศึกษาหนังสือไทยและขอม อายุ 18 ปี บรรพชาเป็นสามเณร

%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0

นอกจากศึกษาในสำนักแล้ว ยังไปศึกษาเพิ่มเติมกับ พระอาจารย์พรหมน้อย และ พระครูประสิทธิสุตคุณ ที่วัดอัมรินทร์ จนปี พ.ศ.2411 อายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดช่างเหล็ก บางกอกน้อย มี พระอธิการม่วง วัดตลิ่งชัน เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดแก้ว วัดทอง และ พระอาจารย์พึ่ง วัดรวก เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า “อินทโชติ”

หลังจากนั้นกลับมาจำพรรษาที่วัดทอง หากแต่ยังได้ร่ำเรียนวิปัสสนากรรมฐาน พุทธา คม และไสยศาสตร์ จากพระอุปัชฌาย์ม่วง ที่วัดตลิ่งชัน มิได้ขาด จนกระทั่งสำเร็จ นอกจากนี้ยังได้ศึกษากับอีกหลายสำนัก

ต่อมา หลวงพ่อทับได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดทอง และได้บูรณปฏิสังขรณ์จนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่รู้จักมาจนทุกวันนี้ ด้วยความรู้ความสามารถในเชิงช่างไม้ช่างปูนของท่าน ท่านจึงซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ ด้วยตัวเอง

เมื่อชาวบ้านเห็นก็ได้ร่วมแรงร่วมใจมาช่วยกันสร้างและซ่อมแซมด้วยความเคารพศรัทธาในตัวหลวงพ่อ ท่านจึงได้สร้าง “พระปิดตาเนื้อโลหะ” เพื่อแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านและลูกศิษย์ลูกหาที่มาช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัด

ในช่วงบั้นปลายของชีวิต หลวงพ่อทับอาพาธ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ยังเสด็จมาเยี่ยมและให้แพทย์หลวงรักษา แต่เนื่องจากอาการอาพาธหนัก ท่านจึงมรณภาพเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2455 สิริอายุได้ 66 ปี 45 พรรษา

พระปิดตามหาอุดหลวงพ่อทับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นแบบลอยองค์ พระประธานนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ที่ล้วงปิดทวาร จะล้วงลงทางด้านในไม่ผ่านหน้าแข้ง จึงทำให้เห็นกิริยาขัดสมาธิเพชรได้เด่นชัด หรือที่เรียกกันว่า “โยงก้นด้านใน” ด้านข้างองค์พระไม่ปรากฏรอยตะเข็บ เนื่องจากท่านสร้างโดยวิธีปั้นหุ่นด้วยเทียนขี้ผึ้งทีละองค์ แล้วจึงใช้ดินเหนียวประกอบด้านนอก

จากนั้นจึงใช้โลหะที่หลอมละลายเทหยอดทางก้นหุ่น เนื้อโลหะที่ร้อนจัดจะทำให้เทียนละลายและสำรอกออกทางรูที่เจาะไว้ เหลือแต่เนื้อโลหะเป็นรูปองค์พระแทน การกำหนดเลขยันต์ที่จะบรรจุลงบนพระนั้น ท่านจะเลือกอักขระที่เหมาะสม มีความหมาย มีอำนาจแห่งพุทธาคม บรรจุลงตามส่วนต่างๆ ขององค์พระ เว้นช่องไฟได้เหมาะเจาะสวยงาม

องค์พระจึงไม่เหมือนกันเลยทั้งรูปทรงและลวดลายของอักขระยันต์ จึงหาผู้สร้างลอกเลียนได้ยากมาก

แบ่งออกได้เป็น 4 พิมพ์ใหญ่ๆ คือ พิมพ์นั่งบัว, พิมพ์บายศรี, พิมพ์ตุ๊กตา และ พิมพ์ยันต์ยุ่ง โดยยังแยกออกเป็นพิมพ์ย่อยและมีหลายขนาด แต่ก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะที่สามารถจดจำได้ว่าเป็นของท่าน ทุกพิมพ์ล้วนเป็นที่เสาะแสวงหาของนักนิยมสะสมพระเครื่อง

สนนราคาก็แพงลิบลิ่วครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน