คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

กรุงเทพมหานคร มี “เสาหลักเมือง” คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ครั้ง “สร้างกรุงรัตนโกสินทร์” ประดิษฐาน ณ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เยื้องกับพระบรมมหาราชวัง จึงถือเป็น “หลักชัยคู่บารมีกรุงรัตนโกสินทร์”

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร สร้างพร้อมกับ “การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี” ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตามประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมา เป็นหนึ่งในพิธีพราหมณ์ที่ว่าไว้ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคล โดยโหรหลวงจะต้องผูกชะตาเมืองถวาย พร้อมกับทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองล่วงหน้า แล้วบรรจุ “ดวงชะตาเมือง” ไว้ในเสาหลักเมืองด้วย

มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า…เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้โหรผูกชะตาเมืองกรุงเทพฯ ที่จะสร้างขึ้นใหม่นั้น โหรหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดวงเมือง 2 แบบ คือ ดวงเมืองแบบหนึ่ง บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง ไม่มีเหตุวุ่นวาย แต่ทว่าจะต้องมีอยู่ระยะหนึ่งที่ประเทศไทยต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ส่วนอีกดวงเมืองหนึ่งนั้น ประเทศไทยจะมีแต่เรื่องยุ่งวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทว่าจะสามารถรักษาเอกราชได้ตลอดไป ปรากฏว่า พระองค์ทรงเลือกดวงเมืองตามแบบหลัง อาจเป็นเพราะทรงมีพระราชดำริว่า การที่จะต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นนั้น แม้บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองแค่ไหน ก็ไม่มีความหมายอันใด ถ้าสิ้นความเป็นไท…

ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้กระทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 เวลา 06.54 นาฬิกา ตามฤกษ์มงคล การฝังเสาหลักเมืองประกอบพระราชพิธีตามพระตำราที่เรียกว่า “พระราชพิธีนครฐาน” โดยใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 เซนติเมตร สูง 187 นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุ “ดวงชะตาเมือง”

ต่อมาในปี พ.ศ.2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขุดเสาหลักเมืองเดิมที่ชำรุด และจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ทดแทน เป็นแกนไม้สัก ประกับนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ 6 แผ่น สูง 108 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว บรรจุ “ดวงชะตาเมือง” ในยอดเสาทรงมัณฑ์ ที่มีความสูงกว่า 5 เมตร แล้วทรงอัญเชิญหลักเมืองเดิมและหลักเมืองใหม่ ประดิษฐานใน “ศาลหลักเมือง” ที่สร้างใหม่ มียอดปรางค์ ก่ออิฐฉาบปูนขาว ได้แบบอย่างจาก “ศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา” ตามอุดมมงคลฤกษ์ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2395 เวลา 04.48 น.

เสาหลักเมืองของกรุงเทพมหานคร จึงมีด้วยกัน 2 หลัก ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลักประจำศาลฯ นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน “เทพารักษ์องค์สำคัญ 5 องค์” ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อเจตคุปต์ และเจ้าพ่อหอกลอง เพื่อปกป้องคุ้มครองและสร้างความร่มเย็นแก่ประเทศชาติและประชาชนที่พึ่งพระบรมโพธิสมภารทั่วประเทศ

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร จึงนับเป็นหลักชัยที่เคารพศรัทธาและที่พึ่งทางใจของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ เมื่อใดที่มีโอกาสเข้ามาในอาณาบริเวณ ก็จะต้องมากราบสักการะขอพร โดยเชื่อว่า หากได้มาขอพร “เสาหลักเมือง” และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ณ ศาลหลักเมืองนี้แล้ว จะตัดเคราะห์ เสริมโชคชะตา เสริมความมั่นคงรุ่งเรืองในชีวิต และประสบความสำเร็จในสัมมาอาชีพ แต่ละวันจึงมีผู้คนมากราบไหว้กันเป็นจำนวนมาก โดยทางศาลฯ ได้จัดสร้าง “เสาหลักเมืองจำลอง” ให้ได้สรงน้ำ ปิดทอง และผูกผ้าแพร ก่อนเข้าไป สักการะองค์จริงที่อยู่ด้านในครับผม

คาถาบูชาองค์พระหลักเมือง

ท่องนะโม 3 จบ ต่อด้วยพระคาถา …

ศรีโรเม เทพเทวานัง พระหลักเมืองเทวานัง พระภูมิเทวานัง ทีปธูปจะบุปผัง สักการะวันทนัง สูปพยัญชนะ สัมปันนัง สารีนัง อุททะกัง วะรัง เตปิตุมเห อานุรักษ์ขันตุ อาโรขเยนะ สุเขนะจะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน