พระหยกเชียงราย วัดพระแก้ว

โดย ราม วัชรประดิษฐ์

พระหยกเชียงราย วัดพระแก้ว – พระหยกเชียงราย หรือ “พระพุทธรตนากร” มีชื่อเป็นทางการว่า “พระพุทธรตนากร นวุตติวัสสานุสรณ์มงคล” ประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ หอพระหยก วัดพระแก้ว พระอารามหลวง จ.เชียงราย วัดเก่าแก่ศิลปะล้านนา เดิมชื่อ “วัดป่าเยี้ยะ (ป่าไผ่)” ซึ่งเป็นสถานที่พบ “พระแก้วมรกต” แล้วอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร ชาวเชียงรายจึงเรียกขานนามวัดว่า “วัดพระแก้ว” สืบมา

พระหยกเชียงราย วัดพระแก้ว

หอพระหยก วัดพระแก้ว

 

ตามประวัติกล่าวไว้ว่า…เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.1897 สมัยที่ ‘พระเจ้าสามฝั่งแกน’ ครองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมารักกะเทาะออกจึงพบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวที่สร้างด้วยหยก ซึ่งก็คือ ‘พระแก้วมรกต’ หลังจากนั้นได้รับการอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ เมืองต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้ ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2321 จนถึงปัจจุบัน…

จนถึงปี พ.ศ.2533 เนื่องในมหามงคลสมัยที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชชนนี ในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา ในวันที่ 21 ต.ค.2533 และเพื่อ รำลึกถึง “องค์พระแก้วมรกต” ซึ่งมีการค้นพบ ณ สถานที่แห่งนี้จึงได้มีการจัดสร้าง“พระหยกเชียงราย” ขึ้นแทนองค์ “พระแก้วมรกต” อันเป็นที่เคารพศรัทธา พร้อมทั้งเฉลิม พระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้ทรงเปรียบประดุจประทีปนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่เมืองเชียงรายในคราวเดียวกัน

พระหยกเชียงราย วัดพระแก้ว

พระหยกเชียงราย เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบ ฐานเขียง พุทธศิลปะแบบเชียงแสนทรงเครื่อง ขนาดหน้าตักกว้าง 47.9 ซ.ม. สูง 65.9 ซ.ม. ซึ่งเป็นส่วนสัดที่ใกล้เคียงกับ ‘พระแก้วมรกต’ องค์พระแกะสลักจากหินหยกที่ดีที่สุดของประเทศแคนาดา เครื่องทรงสร้างด้วยอัญมณีและทองคำ รองรับฐานเขียงด้วยฐานบัวศิลปะเชียงแสนที่แกะสลักด้วยหินหยกสูงประมาณ 1 ศอก โดยมี อาจารย์กนก วิศวะกุล เป็นผู้ปั้นหุ่นต้นแบบ แล้วส่งแกะสลักโดยช่าง ผู้ชำนาญที่โรงงานวาลินนานกู ประเทศจีน

เมื่อแล้วเสร็จได้ประกอบพิธีรับมอบ ณ พระวิหารวัดกวางจี้ มหานครปักกิ่ง โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานนามว่า “พระพุทธรตนากร นวุตติวัสสานุสรณ์มงคล” แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นอากรแห่งรัตนะ เป็นอนุสรณ์ 90 พรรษา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสามัญว่า “พระหยกเชียงราย” และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังในวันที่ 20 ก.ย.2534 ทรงเจิม ทรงพระสุหร่าย และทรงจุดเทียนชนวนถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เพื่อทรงจุดเทียนชัย ก่อนอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ หอพระหยกวัดพระแก้ว ในวันที่ 19 ต.ค.2534 โดยประกอบพิธีสมโภชอย่างยิ่งใหญ่

“พระหยกเชียงราย” หรือ “พระพุทธ รตนากร” แม้จะเป็นพระพุทธรูปยุคใหม่ แต่นับเป็นพระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวเชียงรายและใกล้เคียงยิ่ง ด้วยถือเป็นองค์แทน “พระแก้วมรกต” อีกทั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ‘สมเด็จพระศรีน ครินทราบรมราชชนนี’ มิ่งขวัญของชาวเชียงรายทั้งปวง

นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถ วัดพระแก้ว ยังประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญอีกองค์หนึ่ง คือ ‘พระเจ้าล้านทอง’ พระพุทธปฏิมาที่สวยงามสง่าองค์หนึ่งของไทย รวมทั้ง ‘พระเจดีย์เก่าแก่’ ที่กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ.2478 และ ‘โฮงหลวงแสงแก้ว’ อาคารทรงล้านนาประยุกต์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ เช่น พระพุทธสิหิงค์ (จำลอง) รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกมากมายครับผม

อ่านต่อข่าวอื่น : https://www.khaosod.co.th/amulets/news_1717733

ฉลอง 111 ปี หลวงปู่แสน : พันธุ์แท้พระเครื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน