พระร่วงกรุวัดหน้าพระธาตุ : คอลัมน์ชมรมพระเครื่อง

พระร่วงกรุวัดหน้าพระธาตุ – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระร่วงยืนเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ที่พบในจังหวัดชลบุรี หลายๆ ท่านอาจจะไม่ค่อยเคยได้ยินมาก่อนเลย เนื่องจากพระที่พบมีจำนวนน้อยมาก และเป็นที่หวงแหนกันมากของคนเมืองชล โดยเฉพาะคนอำเภอพนัสนิคม เนื่องจากมีประสบการณ์กันมาก

เมืองชลบุรีเป็นชุมชนเก่าแก่มาแต่โบราณ จากหลักฐานโบราณคดีพบซากเมืองโบราณที่พบ 3 แห่งคือ เมืองพญาแร่ ตำบลบ่อทอง อำเภอพนัสนิคม เมืองพโรหรือเมืองศรีพโร ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมือง และเมืองพระรถ ตำบลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม ซึ่งเมืองนี้มีการขุดพบพระพุทธรูปศิลาสีดำ เป็นรูปพระพุทธรูปยืนประทับบนตัวพนัสบดี สมัยทวารวดีและพบโบราณวัตถุต่างๆ พร้อมทั้งกำแพงเมืองโบราณ ผังเมืองแบบอาณาจักรทวารวดี จึงสันนิษฐานได้ว่าเมืองนี้เป็นเมืองในสมัยอาณาจักรทวารวดีและเจริญรุ่งเรืองต่อมาจนถึงสมัยลพบุรี นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของถนนเส้นทางเดินทางจากเมืองพโรไปเมืองพระรถ ถนนนี้เรียกว่าถนนพระรถถนนนี้ผ่านต่อไปจนถึงชุมชนโบราณศรีมโหสถ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ถนนช่วงต่อจากนี้เรียกกันว่าถนนขอม

 

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีบันทึกชื่อเมืองชลบุรีปรากฏเป็นหลักฐานทำเนียบศักดินาหัวเมืองจัตวา ในปี ..1912 ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช ระบุว่าชลบุรีเป็นเมืองภายนอกแต่ละปีต้องส่งไม้แดงเป็นส่วย และในไตรภูมิปรากฏชื่อตำบลสำคัญ ของชลบุรี 4 ตำบล

ได้แก่ บางทราย บางปลาสร้อย บางพระเรือ และบางละมุง ต่อมาเมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 ทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขณะดำรงพระยศเป็นพระยาวชิรปาการ ยกทัพออกจากกรุงศรีฯ ฝ่าวงล้อมพม่าผ่านมาและหยุดพักที่บ้านหนองไผ่ (ตำบลนาเกลือ) แขวงเมืองบางละมุง ต่อมาบริเวณนี้ชาวบ้านเรียกว่าทัพพระยาและเปลี่ยนเป็นพัทยาเนื่องจากบริเวณที่ตั้งทัพมีลมชื่อพัทธยาคือลมจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในต้นฤดูพัดผ่านมา ภายหลังเขียนใหม่เป็นพัทยาอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน

ที่อำเภอพนัสนิคมนี้เคยเป็นเมืองเก่าแก่ในสมัยทวารวดีจนมาถึงยุคขอม พระที่พบเป็นพระสมัยสูงๆ ทั้งสิ้น และพระที่มีชื่อเสียงของอำเภอพนัสฯ ก็คือพระร่วงกรุวัดหน้าพระธาตุเป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงซึ่งจากพุทธศิลปะนั้นเป็นพระทวารวดียุคปลายถึงต้นยุคขอม และพบพระเนื้อดินเผาขนาดค่อนข้างใหญ่ที่กรุวัดหนองบัวศิลปะทวารวดี เป็นพระพุทธรูปปางประทับนั่ง และพบที่กรุวัดหนองยางอีก เป็นพระประทับนั่งศิลปะทวารวดีเช่นกัน

สำหรับพระเนื้อดินเผานั้นล้วนแต่มีขนาดใหญ่ ไม่เหมาะกับการนำมาห้อยคอก็จะมีแต่พระร่วงเนื้อชินตะกั่วของกรุวัดหน้าพระธาตุเพียงอย่างเดียวที่เหมาะนำมาเลี่ยมห้อย เท่าที่พบพระร่วงกรุนี้จะมีอยู่ 2 พิมพ์

คือ พิมพ์ใหญ่กับพระพิมพ์เล็ก พระพิมพ์ใหญ่มีน้อยไม่ค่อยได้พบเห็นกัน ขนาดค่อนข้างเขื่องและหนาจึงทำให้มีน้ำหนักมาก ส่วนพระร่วงพิมพ์เล็กนั้นจะเหมาะกับการนำมาเลี่ยมห้อยคอครับ แต่จำนวนพระที่พบนั้นมีน้อยมาก และคนพื้นที่มักหวงกันมากจึงไม่ค่อยได้มีการพบแพร่หลาย จึงทำให้ไม่ค่อยมีการรู้จักกันนัก พระร่วงของกรุวัดหน้าพระธาตุนี้ จะมีสนิมไขปกคลุมอยู่ทั่วทั้งองค์พระ ใต้สนิมไขจะเป็นสนิมแดงแบบพระชินตะกั่วทั่วๆ ไป แต่บางองค์ที่มีแต่สนิมไขเพียงอย่างเดียวไม่มีสนิมแดงก็มี ซึ่งบ่งบอกถึงความเก่าแก่มีอายุครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระร่วงกรุวัดหน้าพระธาตุ จากหนังสือ อมตพระกรุอันล้ำค่าของไทย มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน