คอลัมน์ ข่าวสดพระเครื่อง

เชิด ขันตี ณ พล

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมตักสิลา โรงพยาบาลมหาสารคาม นายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสาร คาม เป็นประธานโครงการการใช้สมาธิบำบัดในผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยมีพระสงฆ์กว่า 100 รูป เข้าร่วมรับการอบรม วัตถุประสงค์เพื่อให้พระภิกษุ มีความรู้ ความสามารถ นำไปบำบัดอาการป่วยโรคเรื้อรัง

พญ.จรัญญา จุฬารี ประธานหน่วยบริบาลบรรเทาโรงพยาบาลมหาสารคาม เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมโครงการนี้ ว่า การเจ็บป่วยในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนไป โดยประชาชนมีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังสูงขึ้น รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของโครงสร้างประชากรสูงอายุ ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้าย หรือระยะที่ภาวะเจ็บป่วยคุกคามชีวิตจนไม่สามารถตอบสนองต่อการรักษามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ได้ตระหนักถึงปัญาหานำภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยสู่การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดยมีการใช้สมาธิบำบัดแบบ SKT คือ หลักการกำหนดจิต รับรู้ และการเคลื่อนไหว ด้วยลมหายใจเข้าและออก เป็นตัวขับเคลื่อน คือ กายและใจประสานเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นศาสตร์ในการป้องกันและรักษาโรคแบบองค์รวม

หน่วยบริบาลบรรเทา โรงพยาบาลมหาสารคาม ได้ศึกษาและได้สนับสนุนวิธีการดังกล่าว จึงได้จัดโครงการการใช้สมาธิบำบัดในผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยเชิญพระภิกษุและผู้ที่ได้รับการฝึกฝนสมาธิมาเป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้การทำสมาธิตามหลักพระพุทธศาสนา และ นายสมพร กันทรดุษฎี-เตรียมชัยศรี เจ้าของงานวิจัยเรื่อง สมาธิเพื่อการสร้างเสริม สุขภาพ มาสอนการทำสมาธิรูปแบบ SKT ทั้ง 11 ท่า มาเป็นวิทยากร จากนั้นพระที่ร่วมกิจกรรมก็จะนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติเมื่อยามเกิดอาพาธและขยายผลสู่พระภิกษุสามเณรภายในวัดของตนรวมทั้งวัดอื่นๆ ต่อไป

นายเสน่ห์ ให้ความเห็นหลังเป็นประธานเปิดโครงการ ว่า เป็นโครงการที่มีประโยชน์มากเนื่องจากในปัจจุบันความเจ็บป่วยของประชาชน ส่วนใหญ่มาจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และไขมันอุดตันในเส้นเลือด ไม่เว้นแม้แต่พระภิกษุสงฆ์ สาเหตุที่พระเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะการถวายภัตตาหารของพุทธศาสนิกชน ที่นิยมจะถวายภัตตาหารที่มีรสเค็มจัด มันจัด หรือหวานจัด หากถวายอาหารที่มีรสเค็มจัดจะทำให้เป็นความดันโลหิตสูง

“ในส่วนของอาหารที่หวานจัดนั้น ทำให้เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เป็นต้น ทางจังหวัดได้ตระหนักถึงปัญหา จึงหาวิธีป้องกันร่วมกับการบรรเทาความเจ็บป่วย จึงได้นำภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยสู่การดูแลสุขภาพพระภิกษุ โดยมีการใช้สมาธิบำบัดแบบ SKT คือ หลักการกำหนดจิต รับรู้ และการเคลื่อนไหว ด้วยลมหายใจเข้าและออก เป็นตัวขับเคลื่อน นั่นคือ กายและใจประสานเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นศาสตร์ในการป้องกันและรักษาโรคแบบองค์รวม และสอดคล้องกับการทำสมาธิตามหลักพระพุทธศาสนา” ผู้ว่าฯ มหาสารคามกล่าว

นายสมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี เจ้าของงานวิจัยเรื่องสมาธิเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ในฐานะวิทยากร กล่าวว่า จากการทดลองที่ผ่านมาพบว่าการทำสมาธิแบบสมรรถะ หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ สามารถช่วยให้คลายเครียดได้อย่างดี ถ้าสามารถควบคุมการฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น การสัมผัส และการเคลื่อนไหวด้วย จะทำให้การทำสมาธิมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทอัตโนมัติ ระบบอารมณ์ พฤติกรรม ระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ระบบไหลเวียนเลือด และระบบอื่นๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดี ถือเป็นอีกแนวทางที่จะทำให้คนไทย มีสุขภาพดี และลด ละเลิก การพึ่งยาเพียงอย่างเดียว ด้วยการหันมาใช้ศาสตร์ทางเลือก ซึ่งมีการพิสูจน์ให้เห็นถึงผลการรักษากับคนไข้ในหลายโรงพยาบาลมาแล้ว

พระเทพสิทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า การทำสมาธิถือเป็น “ธรรมโอสถ” เนื่องจากการปฏิบัติสมาธิได้รับการศึกษาและมีผลงานวิจัยออกมาแล้วว่ามีความเชื่อมโยงถึงการทำงานของระบบประสาท หากผู้ปฏิบัติมีความแน่วแน่ของจิต ทำให้ใจนิ่ง หากจิตนิ่งจะยิ่งมีพลัง การทำสมาธิจึงเป็นการฝึกจิตใจและพัฒนาจิตใจให้มีความมั่นคง เมื่อคุณภาพทางจิตใจดี สมดุลในร่างกายก็เกิดขึ้นได้ ถ้าเราปฏิบัติทุกๆ วันก็จะทำให้เราห่างไกลโรคร้าย แถมมีสุขภาพจิต สุขภาพกายที่แข็งแรงด้วย

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพระภิกษุที่เข้ารับการอบรมในวันนี้จะได้นำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติรักษาตนเองเมื่อยามอาพาธและขยายผลออกไปสู่หมู่คณะสงฆ์อื่นต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน