“หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ” หรือ “พระครูเขมคุณโสภณ” วัดเกาะแก้วธุดงคสถาน อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ สาย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระวิปัสสนาจารย์สาย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

มีนามเดิมว่า จันทร์ ร้อยตะคุ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 17 เม.ย. 2465 ที่บ้าน จ.มหาสารคาม ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

พออายุ 17 ปี บวชเรียนเป็นสามเณรที่วัดสระทองนพคุณ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม มีพระครูจันทรศรีธีรคุณ เจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิ พิสัยเป็นพระอุปัชฌาย์

ในช่วงเป็นสามเณรท่านสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท และเอก ตามลำดับ

ครั้นพออายุครบ 20 ปี ลาสิกขาเดินทางกลับบ้าน ทำงานรับจ้างปลูกพืชผักสวนครัว นำไปขายได้เงินเลี้ยงครอบครัว

ต่อมาท่านเกิดความเบื่อหน่ายในการครองชีวิตฆราวาส อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดความสลดสังเวชใจ จนกระทั่งถึงกาลเวลาแห่งบารมีธรรม ท่านจึงตัดสินใจเป็นแน่วแน่ว่าจะบวช

เมื่อตัดสินใจบวชที่วัดกระดึงทอง ซึ่งขณะนั้นมีพระอาจารย์แก้วเป็นผู้ปกครอง

ในสมัยนั้นการบวชพระสายธรรมยุตเป็นเรื่องที่ยากลำบากพอสมควร จะต้องเดินทางไปเป็นแรมคืน เพราะในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ที่เป็นวัดธรรมยุตมีพัทธสีมาสามารถให้การอุปสมบทได้ มีเพียงวัดเดียวเท่านั้นคือ วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์

เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดบูรพารามเมื่อปี พ.ศ.2488 โดยมีพระครูรัตนากรวิสุทธิ์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสารสัมปัน (หลวงปู่โชติ คุณสัมปันโน) วัดวชิราลงกรณวราราม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า เขมสิริ

ถึงแม้จะไม่ได้อยู่อุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์ในฐานะที่เป็นสัทธิวิหาริก แต่ท่านก็ยึดถือปฏิปทาของพระอุปัชฌาย์เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ท่านเป็นพระที่พูดน้อย แต่เคร่งครัดในการปฏิบัติ ยึดมั่นในพระธรรมวินัยเป็นหลักตามแบบฉบับของหลวงปู่ดูลย์

สิ่งเหล่านี้หลวงปู่จันทร์แรมได้ยึดถือเป็นแบบปฏิบัติ ดังปรากฏเป็นคติสอนศิษยานุศิษย์เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ครั้นบวชได้ 4 พรรษา วันหนึ่งได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระอาจารย์มั่น โดยพระอาจารย์มั่นให้โอวาทกับหลวงปู่จันทร์แรมว่า “การภาวนาอย่านอน 3 ทุ่ม 4 ทุ่ม จึงนอน นอนตื่นเดียวไม่ให้นอนซ้ำ เมื่อตื่นขึ้นให้ภาวนาต่อ ก่อนภาวนาต้องมีสติ เอาใจใส่ต่องานที่เราทำ อย่าทำแบบลวกๆ กลางวันอย่านอน ให้เดินจงกรมนั่งสมาธิ ให้ไปทำหลังวัดที่เป็นป่ากระบาก

นอกจากนั้นให้ไปที่ถ้ำพระบ้านนาใน เป็นถ้ำที่มีเสือเดินผ่าน ด้วยความกลัวจะทำให้จิตเป็นสมาธิเร็ว อย่าขี้เกียจ” โอวาทธรรมที่หลวงปู่จันทร์แรมได้รับจากท่านพระอาจารย์มั่นในครั้งนั้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่หลวงปู่จันทร์แรมมีโอกาสได้รับธรรมะโดยตรงจากพระอาจารย์มั่น เป็นที่ปลื้มปีติและซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งจนถึงทุกวันนี้ ในเมตตาธรรมของครูบาอาจารย์

ทั้งนี้ หลวงปู่จันทร์แรมเป็นพระนักปฏิบัติที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นอย่างดียิ่ง มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของศิษยานุศิษย์มากมาย

ในช่วงบั้นปลายชีวิต เริ่มอาพาธด้วยโรคหัวใจ ต้องเข้ารับการรักษาและดูแลจากคณะแพทย์อย่างใกล้ชิด

กระทั่งเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 29 พ.ย. 2552 ขณะฉันภัตตาหารเพลเกิดหมดสติล้มฟุบลงกับพื้น คณะศิษย์ที่อยู่บริเวณนั้นต่างช่วยกันรีบนำส่งรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนบุรีรัมย์

จากนั้น หลวงปู่จันทร์แรมมีสภาพเหมือนคนนอนหลับ ไม่รู้สึกตัว

กระทั่งเวลา 01.20 น. วันที่ 8 ธ.ค.2552 จึงมรณภาพอย่างสงบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน