พระกริ่ง 7 รอบ วัดบวรนิเวศวิหาร

ฉลองพระชนมายุ 7 รอบ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

หนังสือ “ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร” ได้บันทึกไว้ว่า … “พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อ“พระกริ่ง 7 รอบ” หรือ “พระกริ่งพระพุทธชินสีห์” แทนพระองค์ “สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ผู้เป็นสมเด็จพระบรมราชอุปัชฌายาจารย์ เนื่องจากทรงพระประชวร

พระกริ่ง 7 รอบ และวัตถุมงคลอื่นในชุดนี้ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบำเพ็ญพระกุศล ฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบพระนักษัตร 84 พรรษาของ “สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” อีกทั้งยังเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบ พระนักษัตร 84 พรรษาของ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

รวมทั้งถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในมหามงคลโอกาสที่ “สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” เสด็จออกทรงผนวช ในวาระนี้ด้วย

หนังสือ “จดหมาย เหตุทรงพระผนวช” มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดพิมพ์ถวายสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชฯ เพื่อประทานในงานฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบ พระนักษัตร 84 พรรษา ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2499 และในหนังสือ “ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร สมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงครองวัด” ระบุถึงรายละเอียดการจัดสร้างพระกริ่ง 7 รอบ และวัตถุมงคลอื่นๆ อันประกอบด้วย พระพุทธรูป พระพุทธชินสีห์ ครอบน้ำพระพุทธมนต์ และเหรียญพระพุทธชินสีห์ใบมะขาม

ด้วยการจัดสร้างในครั้งนั้นถือว่ามีจำนวนค่อนข้างมาก (ในสมัยปีพ.ศ.2499) และเจตนาการจัดสร้างมิได้เป็นการส่วนพระองค์หรือเป็นการภายใน

ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร สมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงครองวัด หน้า 100 ระบุว่า

…”พิธีหล่อพระ ทำการเริ่มพิธีตั้งแต่เย็นวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรฯ ไวยาวัจกร ถวายเทียนชนวนที่สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงจุดมาแล้ว ทรงรับเทียนชนวนนั้นจุดเทียนชัย เวลา 20.36 น. ในพิธีหล่อพระพุทธชินสีห์จำลอง แทนสมเด็จพระสังฆราชฯ ซึ่งประชวรไม่สามารถเสด็จมาให้พระสงฆ์สวดคาถาจุดเทียนชัย”

มวลสารสำหรับหล่อพระครั้งนี้ประกอบด้วย แผ่นยันต์ลงอักขระและโลหะที่ใช้ผสมสำหรับหล่อพระก็ล้วนแต่เป็นโลหะมงคลทั้งสิ้น อาทิ เศษชิ้นส่วนพระพุทธรูปโบราณที่ชำรุด ทองเหลืองเนื้อแดง ขันลงหิน เงินบริสุทธิ์ และทองคำบริสุทธิ์ ที่นำมารีดเป็นแผ่นเพื่อลงอักขระที่เรียกว่า แผ่นทองคำเปลว

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 เวลา 07.35 น. พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ยังศาลาหน้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันตก ไวยาวัจกรวัดทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นทองคำเปลว 84 แผ่น ทรงวางแผ่นทองคำเปลวลงในเบ้าเวลา 07.41 น. ทรงถือสายสิญจน์ซึ่งโยงจากเบ้าเททองหล่อพระพุทธชินสีห์จำลองแทนสมเด็จพระสังฆราชฯ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา

ตามที่หนังสือ “ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร” บันทึกไว้อีกว่า “การเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระแทนสมเด็จพระบรมราชอุปัชายาฌาจารย์ครั้งนั้นด้วยพระราชหฤทัยโสมนัส”
2
พระกริ่ง 7 รอบที่หล่อนี้มี 2 แบบ คือ 1.เป็นพระบูชาหน้าตัก 4 นิ้วครึ่ง และ 2.เป็นพระกริ่งหน้าตัก 1.7 เซนติ เมตร มีจำนวนการสร้างเพียง 500 องค์เท่านั้น

วัตถุมงคลรุ่นนี้กล่าวได้ว่ามีคุณสมบัติพิเศษถึง 5 ประการ คือ

1.เป็นพระกริ่งสำคัญรุ่นเดียวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เททอง

2.เป็นพระกริ่งที่สร้างโดยสมเด็จพระสังฆราชรูปที่ 13

3.สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นพระราชอุปัชฌายาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

4.เป็นพระกริ่งที่สร้างร่วมกันระหว่างประมุขแห่งศาสนจักรและประมุขแห่งอาณาจักร

5.เป็นพระกริ่งที่จำลองรูปพระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปสำคัญประจำวัดบวรนิเวศวิหาร
3
“พระพุทธชินสีห์” แปลตามความหมายว่า พระผู้ชนะพระยาราชสีห์ หรือพระผู้ชนะซึ่งงามสง่าประดุจพระยาราชสีห์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญพระองค์หนึ่งของหัวเมืองฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นคราวเดียวกับพระพุทธชินราช และพระศาสดา ในปีพ.ศ.1500 โดยพระเจ้าศรีธรรม ไตรปิฎกมหาราช แห่งเมืองเชียงแสน ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก

จนถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่มุขหลังของพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปีพ.ศ.2372
4
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ครั้งเมื่อยังทรงผนวชและครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ ทรงเคารพนับถือพระพุทธ ชินสีห์มาก

พระองค์ทรงทูลขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพื่ออัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และโปรดให้กะไหล่รัศมีองค์พระด้วยทองคำ พระเนตรฝังเพชรที่พระอุณาโลม แล้วปิดทองทั้งองค์พระ เมื่อปี พ.ศ.2393

ในปี พ.ศ.2397 โปรดให้หล่อฐานด้วยทองสำริด ปิดทองใหม่ทั้งองค์พระและฐาน
7
กล่าวสำหรับพระกริ่ง 7 รอบ มีลักษณะองค์พระเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะแบบสุโขทัย มีพุทธลักษณะค่อนข้างอวบอ้วนแบบพระกริ่งจีน ส่วนบัวที่ฐานเป็นบัวเล็บช้างตามแบบอย่างพระกริ่งจีนใหญ่

ด้านหลังองค์พระมีกลีบบัว 2 คู่ และตรงบัวคู่ล่างมีเลข ๗ ไทยลึกลงในเนื้อพระปรากฏให้เห็น ทำให้พระกริ่ง 7 รอบมีเอกลักษณ์เฉพาะ จนกลายเป็นที่มาของชื่อที่ใช้เรียกพระกริ่งรุ่นนี้

ใต้ฐานมีรอยอุดกริ่ง รอยอุดมีขนาดใหญ่กว้างประมาณขนาดแท่งดินสอ

พระกริ่ง 7 รอบ จำลองแบบมาจากพระพุทธชินสีห์ พระประธานในอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งนายช่างผู้ออกแบบปั้นหุ่นคือ นายช่างมนตรี (มาลี) พัฒนางกรู แห่งพัฒนช่าง
1
พระกริ่งรุ่นดังกล่าวได้รับความนิยมและแสวงหากันมากในวงการนักสะสมพระเครื่อง แต่ด้วยจำนวนการสร้างน้อย ราคาเช่าบูชาจึงค่อนข้างสูงและหายาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน