ถอดบทเรียนถ้ำหลวงพบแต่มีโพรงน้ำเต็มขุนเขา เผยนักท่องเที่ยวแห่ชมปากถ้ำตรึม

ถอดบทเรียนถ้ำหลวง / เมื่อวันที่ 8 ส.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดประชุมถอดบทเรียนจากปฏิบัติการค้นหา กู้ภัยและช่วยเหลือผู้สูญหายภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ณ ห้องประชุมโรงแรมโพธิ์วดลรีสอร์ท แอนด์ สปา อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย

โดยหน่วยงานต่างๆ ที่เคยร่วมกันปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาดามี 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้ออกจากถ้ำได้อย่างปลอดภัยทุกคนเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา

ถอดบทเรียนถ้ำหลวง

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีนายภาสกร บุญญลักษณ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดและมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการเข้าร่วมครบครัน วัตถุประสงค์เพื่อสรุปข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 25 ส.ค.และจัดทำเป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์ภายในเดือน ก.ย.นี้ต่อไป

โดยกิจกรรมมีการจัดเสวนาโดยมี พล.ต.สายัณฑ์ เมืองศรี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 34 พล.ต.บัญชา ดุริยพันธ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 นายกองชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรม ปภ. นายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 และนายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สรุปผลการปฏิบัติการของแต่ละหน่วยโดยมีกำหนดจะสรุปผลภายในเดือน ส.ค.นี้และจัดทำเป็นรูปเล่มสมบูรณ์ในเดือน ก.ย.นี้ต่อไป

เจ้าหน้าที่ร่วมถอดบทเรียน

นายภาสกร กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่หน้าที่ทุกฝ่ายได้กลับมาพบกันอีกครั้งหลังจากเสร็จสิ้นปฏิบัติการนำเด็กๆ ทั้ง 13 คนออกมาได้จึงเป็นโอกาสดีที่จะร่วมกันถอดบทเรียน เพราะครั้งนี้ถือเป็นภัยพิบัติระดับ 2 หรือระดับจังหวัดแต่มีหน่วยงานทั่วโลกสนับสนุน

จึงสามารถบอกคนทั้งโลกที่กำลังอยากรู้ว่าประเทศไทยเราบริหารเหตุการณ์นี้อย่างไรจึงประสบความสำเร็จ สำหรับการดำเนินการของจังหวัดคือมีการประกาศตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ในวันที่ 24 มิ.ย. หลังนักประดาน้ำระดับอำเภอไม่สามารถเข้าไปถึงตัวเด็กได้ จากนั้นระดมกำลังทุกฝ่ายเข้าช่วยเหลือจำนวนมากโดยมีการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนจนประสบความสำเร็จ

ด้าน พล.ต.สายัณห์ กล่าวว่า จุดที่เด็กๆ ติดอยู่ในถ้ำลึกจากด้านบนกว่า 1,300 เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำฝนช่วงวันที่ 19-21 มิ.ย. มีประมาณ 90 มิลลิเมตร รวมกันแล้วมีมวลน้ำประมาณา 270,000 ลูกบาศก์เมตร ที่ทะลักเข้าไปในถ้ำซึ่งจากการสแกนจากด้านบนพบว่าลึกลงไปประมาณ 100 เมตร เต็มไปด้วยโพรงน้ำและน้ำที่ไหลผ่านไปถึงปลายเขาเหลือแค่ 10%

ที่เหลือไหลลงโพรงสู่ภายในถ้ำ ต่อมาวันที่ 25-27 มิ.ย. พบว่าปริมาณฝนมากขึ้นเป็น 119 มิลลิเมตร ทำให้มวลน้ำเพิ่มมากขึ้นเป็น 320,000 ลูกบาศก์เมตร ส่งผลทำให้เด็กๆ ติดอยู่ในถ้ำแล้วออกมาไม่ได้ทั้งๆ ที่ช่วงเข้าไปใหม่ๆ น้ำยังแห้งอยู่

ปิดปากถ้ำห้ามเข้า

ขณะที่ นายกมลไชย กล่าวว่า สิ่งที่พบคือถ้ำหลวงยังไม่เคยมีการสำรวจทางวิชาการอย่างเป็นทางการมาก่อน แผนที่สำรวจที่ได้มาก็มาจากนักสำรวจชาวต่างประเทศและคนไทยบางคนที่นิยมเข้าไปในถ้ำ รวมทั้งคำบอกเล่าของชาวบ้านท้องถิ่นที่ระบุว่ามีเส้นทางไปอย่างไร มีห้องโถง ช่องต่างๆ ฯลฯ หรือแม้แต่วปล่องด้านบนก็มาจากคำบอกเล่า

แม้แต่ตนที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2560 ก็เข้าไปได้ลึกประมาณ 700-800 เมตรก็ต้องรีบออกมาเพราะอากาศเริ่มเหลือน้อย สำหรับการปฏิบัติการในส่วนของตนนั้นได้สำรวจทางน้ำที่ไหลด้านบนก่อนเข้าถ้ำ จึงทำท่อเพื่อไม่ให้น้ำทะลักลงไปในถ้ำเพิ่มเติม โดยได้จากคำบอกเล่าของชาวบ้านว่ามีช่องหินที่น้ำที่ไหลผ่านห้วยน้ำดั้น และห้วยมะกอกเหนือถ้ำจะหายลงในช่องหินดังกล่ว

ส่วนการสำรวจปล่องพบกว่า 100 ปล่อง และมีที่เป็นไปได้จำนวน 24 ปล่อง และลึกที่สุด 1 ปล่องทีมรังนกได้โรยตัวลงไปได้ประมาณ 400 เมตรแต่ก็คดเคี้ยวและเป็นทางตัน

เที่ยวถ้ำหลวง ในจุดที่เจ้าหน้าที่อนุญาต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณถ้ำพบว่าในปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยังคงปิดบริเวณปากถ้ำไม่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป แต่อนุญาตให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าไปได้ถึงบริเวณลานหน้าปากถ้ำและศาลเจ้าแม่ดอยนางนอน ห่างจากปากถ้ำประมาณ 30 เมตร มีรั้วโลหะกั้นไว้ โดยมีผู้คนเดินทางไปชมสภาพภูมิประเทศหน้าถ้ำอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน