คพ. ชู “อ.สังคม” จ.หนองคาย โมเดลจัดการขยะเป็นศูนย์ เจ๋งตั้งกองทุนฌาปนกิจจากขยะรีไซเคิลมีเงินหมุนเวียนกว่า 1.2 ล้านบาท

คพ. ชู / เมื่อวันที่ 8 ส.ค.นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติ คพ. ได้จัดทำ โรดแม็พ การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. ?2559 – 2564? เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ

ประกอบกับ กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทย ไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ระยะ 1 ปี (พ.ศ. ?2559 – 2560?) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) ภายใต้กรอบแนวคิด 3R ประชารัฐ คือ การส่งเสริมการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ชาวบ้านมีความชำนาญในการรีไซเคิลขยะ

ส่งผลให้ อปท. ทั่วประเทศ ดำเนินการกำจัดขยะตกค้างเก่าสะสม และจัดการขยะมูลฝอยให้ถูกต้องตามหลักวิชาการการจัดการขยะมูลฝอย เทศบาลตำบลสังคม จังหวัดหนองคาย เป็นหนึ่งใน อปท. ที่มีรูปแบบในการลด คัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ โดยใช้หลักการ 3R : Reduce Reuse Recycle

นางสุณี กล่าวว่า คพ. ได้ลงพื้นที่ชุมชนปลอดขยะแห่งใหม่ เพื่อตรวจสอบการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาล ต.สังคม จ.หนองคาย โดยชุมชนปลอดขยะแห่งนี้ มีขนาดพื้นที่ 2.1 ตร.กม. เขตปกครอง 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน 1,313 ครัวเรือน มีประชากรรวม 3,376 คน

โดยที่ผ่านมาเทศบาล ต.สังคม เคยมีปัญหาการจัดการขยะ ไม่มีหลุมฝังกลบขยะ ต้องขนส่งขยะไปกำจัดที่เทศบาล ต.ศรีเชียงใหม่ ทำให้เสียค่าจัดการขยะ ทั้งการขนส่งและการกำจัดขยะ ปีละประมาณ 5-6 แสนบาท ขณะที่ประชาชนบางส่วนยังไม่ให้ความสำคัญในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง และยังไม่เข้าใจ ผู้ก่อให้เกิด ต้องเป็นผู้รับผิดชอบกำจัดขยะซึ่งมีปริมาณขยะชุมชนเฉลี่ย 810 กก./วัน

นางสุณี กล่าวอีกว่า ภาครัฐได้ส่งเสริมการมีวินัยในการจัดการขยะมูลฝอยของคนในชุมชน โดยเริ่มจากกิจกรรมถนนปลอดถังขยะ ชุมชนจะช่วยกันคัดแยกขยะในครัวเรือน และขยะทั่วไป เฉพาะส่วนที่ไม่สามารถจัดการได้ เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ผู้ใหญ่ เป็นต้น

รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมการลด ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์แก่ชุมชน กิจกรรมการลดใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม กิจกรรมตะกร้าและกระติบข้าวไปวัด ลดใช้ถุง นุ่งผ้าไทย ใช้ปิ่นโต กิจกรรมการจัดการขยะอินทรีย์ ด้วยการทำปุ๋ยชีวภาพ ทำน้ำหมักในครัวเรือน กิจกรรมจับคู่ผู้ก่อกำเนิดและผู้ใช้ประโยชน์จากขยะ (Matching junk) เป็นต้น

โมเดลจัดการขยะเป็นศูนย์

“ทุกกิจกรรมการจัดการขยะของชุมชนล้วนเป็นวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาหมู่บ้านสังคม 1 สามารถใช้ประโยชน์จากขยะได้ทั้งหมด 635 กก./วัน คิดเป็น 78 % จากปริมาณขยะทั้งหมด 810 กก./วัน นับเป็นผลสำเร็จของการดำเนินงานชุมชนอย่างแท้จริง” นางสุณี กล่าว

นางสุณี กล่าวว่า ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วนโดยในปี 2561 ขยะมูลฝอยตกค้างได้รับการจัดการแล้ว 27 ล้านตัน หรือร้อยละ 88.5 จากทั้งหมด 30.5 ล้านตัน ในส่วนการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน และดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการประเทศไทยไรขยะตามแนวทาง “ประชารัฐ” ปัจจุบันมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย 2,867 แห่ง ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 20.2 ล้านตัน ร้อยละ 74โดยนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 11.69 ล้านตัน ร้อยละ 43 และนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ 8.51 ล้านตัน ร้อยละ 31

ด้าน นายอนนต์ แสนคิด นักวิชาการสุขาภิบาล ชำนาญการ เทศบาลต.สังคม กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเทศบาลต.สังคมได้จัดทำโครงการกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์จากขยะรีไซเคิล โดยสามารถคัดแยกขยะรีไซเคิล ประเภทพลาสติก ขวดแก้ว จากชุมชนได้ถึง 230 ตัน นำไปจำหน่ายจนมีเงินหมุนเวียนในกองทุนฯจำนวน 1.2 ล้านบาท

และให้การช่วยเหลือสมาชิกไปแล้วจำนวน 65 ราย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของชุมชน ทั้งนี้ในส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น จอทีวีเก่า หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นถือว่ามีปริมาณน้อยและไม่ค่อยมีปัญหา ซึ่งชาวบ้านสามารถนำไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่าและร้านจำหน่ายอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งพร้อมรับซื้อคืนได้อยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน