บางสะพานยังจมหนัก อพยพคนไข้หนีน้ำทั้งร.พ. ส่วนถนนลงใต้โดนน้ำซัดขาด 2 จุด รถยนต์ถูกน้ำพัดพังเสียหายนับ 100 คัน รถไฟวิ่งลงใต้แค่หัวหิน ด้านพระแสงอ่วมหนัก จมกว่า 3 เมตร-อพยพวุ่น เกาะพีพีห้ามลงเล่นน้ำ ชุมพร-ชะอวดเริ่มคลี่คลาย บิ๊กตู่น้อมนำกระแสรับสั่ง-เร่งช่วยภาคใต้ รัฐบาลเปิดศูนย์ช่วยเหลือประชาชนประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ ครม.มีมติบริจาคท่วมใต้-ลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า พร้อมขยายเวลายื่นแบบจ่ายภาษีถึง 31 มี.ค. อุตุฯยังเตือน ฝนถล่ม 9 จว.ใต้

เตือนฝนถล่มหนัก9จว.ใต้

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนฝนตกหนักถึงหนักมากภาคใต้ตอนบน และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 10 ม.ค.2560 ระบุว่าหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน คาดจะเคลื่อนตัวเข้าอ่าวมะตะบันและประเทศเมียนมา ในวันที่ 10 ม.ค. และจะอ่อนกำลังลงในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณจ.เพชรบุรีและจ.ประจวบคีรีขันธ์ ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งต่อไปอีก 1 วัน ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลง ขอให้ประชาชนระมัด ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และปริมาณฝนที่ตกสะสมอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากต่อไปอีก 1 วัน ส่วนพื้นที่กทม.มีเมฆมากกับมีฝนเล็กน้อย ถึงปานกลาง ร้อยละ 60 ของพื้นที่

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีปภ. เผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ว่า ฝนที่ตกหนักส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้และจ.ประจวบ คีรีขันธ์ โดยมีจังหวัดได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่และประจวบคีรีขันธ์ ประชาชนได้รับผลกระทบ 369,680 ครัวเรือน 1,105,731 คน ผู้เสียชีวิต 25 ราย สูญหาย 2 ราย สถานที่ราชการเสียหาย 5 แห่ง ถนน 218 จุด คอสะพาน 59 แห่ง นอกจากนี้ให้ 9 จังหวัด ประกอบด้วยจ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร จ.นครศรีธรรมราช จ.ระนอง จ.พังงา จ.กระบี่ และจ.ตรัง เฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งจะส่งผลให้พื้นดินชุ่มน้ำ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย ดินไหลและดินถล่ม

ลงใต้อัมพาต-ร.พ.บางสะพานจม

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคใต้ เริ่มจากจ.ประจวบคีรีขันธ์ น้ำที่ท่วมถนนเพชรเกษม บริเวณสามแยกบางสะพานเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีฝนตกลงมาเล็กน้อย ต่อเนื่อง โดยรถยนต์สามารถเคลื่อนตัวได้ หลังติดสะสมยาวกว่า 10 ก.ม. รวมทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมาน้ำป่ายังไหลหลากท่วมรถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณสามแยกบางสะพานไปจนถึงสภ.บางสะพาน พังเสียหายกว่า 100 คัน ส่วนใหญ่ถูกโคลนทับตัวรถ เศษไม้และขยะลอยติดหน้ารถ ขณะที่ตัวเมืองบางสะพานน้ำยังท่วมสูงและน้ำไหลเชี่ยว บางจุดไฟฟ้าดับและไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต

ขณะที่ร.พ.บางสะพาน หลังเจ้าหน้าที่ นำกระสอบมาตั้งป้องกันน้ำทะลักเข้าโรงพยาบาล แต่สุดท้ายต้านทานกระแสน้ำ ไม่ไหว ก่อนน้ำจะเข้าท่วมโรงพยาบาล ระดับน้ำสูง 1.3 เมตร โดยเจ้าหน้าที่ต่างช่วยกันเร่งสูบและระบายน้ำอย่างเร่งด่วน พร้อมย้ายคนไข้ทุกคนไปร.พ.ทับสะแกและ ร.พ. ประจวบฯ เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าและน้ำใช้ด้วย

ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดสธ. กล่าวว่า ตอนนี้ร.พ.บางสะพานยังปิดอยู่ แต่ระดับน้ำลดลงเหลือ 50 ซ.ม.จากเมื่อคืนที่ท่วมสูง 2 เมตร ซึ่งท่วมสูงกว่าทุกครั้ง ส่วนผู้ป่วย 52 ราย แยกเป็นผู้ป่วยหนัก 6 รายได้ย้ายไปร.พ.ประจวบฯ และผู้ป่วยทั่วไป 8 ราย ย้ายไปร.พ.ทับสะแก ขณะที่ผู้ป่วยอีก 38 รายได้ย้ายออกมาเช่นกัน

ส่วนระดับน้ำในคลองลำจริง คลองขนาน คลองยังขวาง คลองลอย คลองทอง และคลองเพลิน เริ่มลดลงเช่นกัน ทำให้ระดับน้ำบนถนนเพชรเกษมลดลงบางช่วง แต่เนื่องจากกระแสน้ำยังซัดคอสะพานคลอง วังยาวขาดเสียหาย ทั้งขาขึ้นและขาล่องใต้ จึงทำให้รถติดยาวกว่า 10 ก.ม. เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรและประชาสัมพันธ์ให้รถเดินทางลงใต้แวะพักที่อ.ทับสะแก ส่วนรถที่จะขึ้นกทม.ให้จอดแวะพักที่ จุดพักรถเขาโพธิ์ของกรมทางหลวงที่อ.บางสะพานน้อย ขณะที่ถนนเพชรเกษม ช่วงหลักก.ม. 365 ต.ชัยเกษม อ.บางสะพาน น้ำได้ซัดคอสะพานขาดด้วย โดยทั้ง 2 จุดเจ้าหน้าที่เร่งติดตั้งสะพานเบลีย์ นอกจากนี้น้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรียังไหลเข้าท่วมถนนชายหาดบ้านกรูดจนขาดหลายจุด ส่งผลให้นักท่องเที่ยวติดในรีสอร์ต

ขณะที่อ.เมืองประจวบฯ เริ่มมีน้ำท่วมถนนบางจุดเช่นกัน อาทิ ถนนประจวบศิริและถนนสุขสมบูรณ์ ท่วมสูง 50 ซ.ม. ถนนเพชรเกษม หน้าปั๊มปตท.ร่อนทองชัย ท่วมเล็กน้อย

พระแสงยังอ่วม-ท่วม 3 เมตร

ที่จ.สุราษฎร์ธานี ทหารและอบต.อิปัน เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนในม.8 ต.อิปัน อ.พระแสง หลังระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประชาชน 150 ครัวเรือนต้องอพยพออกมา โดยนายจำนงค์ นวลผอม ผู้ใหญ่บ้านม. 8 ต.อิปัน กล่าวว่า ระดับน้ำเริ่มไหลเข้าพื้นที่ตั้งแต่เช้าวันที่ 8 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระดับสูงกว่า 3 เมตร ต้องอพยพชาวบ้านทั้งหมู่บ้านออกมาในที่ปลอดภัย โดยคาดจะมีปริมาณสูงขึ้นอีก เพราะน้ำระบายลงสู่แม่น้ำตาปีได้ยาก ส่วนในต.ไทรขึง น้ำยังท่วมสูงกว่า 3 เมตรเช่นกัน ต้องอพยพชาวบ้าน และคนชรามาอยู่ที่ โรงเรือนใช้เลี้ยงแพะ เพื่อหนีน้ำ

ที่จ.นครศรีธรรมราช น้ำท่วมยังท่วมขังในอ.เชียรใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจาก อ.ชะอวด ส่งผลให้ถนนหมายเลข 4151 สายบ้านบ่อล้อ-บ้านตูล ยังมีน้ำท่วมสูงหลายจุด รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ชาวบ้านต้องอพยพหนีน้ำมาอยู่บนถนนเป็นการชั่วคราว

ส่วนในอ.ชะอวด ระดับลดลงจนสถาน การณ์คลี่คลายแล้ว โดยนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผวจ.นครศรีฯ ร่วมทำความสะอาดใหญ่ในตลาดเขตเทศบาลตำบลชะอวด โดยนายจำเริญ เผยว่า น้ำท่วมครั้งนี้หนักสุดในรอบ 40 ปี อ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 แห่งเต็มหมด เมื่อฝนตกลงมาใหม่ทำให้น้ำท่วม ฉับพลัน ทำให้ทั้งคอสะพานและถนนขาด เสียหาย ซึ่งกำลังเร่งซ่อมแซม พร้อมใช้เรือ ผลักดันน้ำ 50 ลำเร่งระบายลงทะเล เบื้องต้นพบชาวบ้านเดือดร้อนไม่น้อยกว่า 4 แสนคน

บิ๊กตู่น้อมนำกระแสรับสั่ง

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค. องคมนตรีน้อมนำกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ดูแลเรื่องน้ำท่วมให้ดีที่สุด โดยเฉพาะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่พระองค์ทรงดูแลอยู่ โดยผู้ว่าฯสามารถติดต่อได้โดยตรงกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ซึ่งพระองค์ท่านพระราชทานแนวทางมาให้แล้ว ไม่อย่างนั้นจะไม่ทันเวลา และให้สรุปกราบทูลรายงานให้พระองค์ทรงทราบ และอยากให้ทราบว่าการช่วยเหลือที่ผ่านมา พระองค์พระราชทานไปมากพอสมควร ในการช่วยเหลือสิ่งของลงไปในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่แรกโดยผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ปัญหาการระบายน้ำ เพราะมีการสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่น ถนน หมู่บ้านจัดสรรหรือการสร้างบ้าน จึงสั่งการไปแล้วว่าจะขุดลอก เจาะช่องระบายน้ำที่มีการทำมาแล้ว 10-20 ปีก็จะนำมาแก้ไขในตอนนี้ รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร พร้อมยืนยันเจ้าหน้าที่แจ้งเตือนภัยมาเป็นเดือนแล้วว่าฝนจะตกและคลื่นแรง แต่คนคิดว่าเป็นแบบเดิมเดี๋ยวก็ไป คนก็ไม่ได้เตรียมตัวที่จะย้าย แล้วจะบอกว่าแจ้งช้าได้อย่างไร ถ้าไม่เตรียมตัวก็จะเป็นแบบนี้ ของก็ย้ายไม่ทัน ส่วนการอพยพประชาชน เมื่อปี 2554 ก็เกิดน้ำท่วม ตอนนั้นเกิดในกรุงเทพฯ มีอาคารใหญ่หลายแห่ง แต่คราวนี้ภาคใต้น้ำท่วม 10 จังหวัดจะอพยพไปไหน ขณะนี้ต้องไปอยู่ดอน ศาลาวัดก็ทำอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่หลายคนไม่อยากย้าย เป็นนิสัยคนไทย จึงเป็นปัญหาที่ยากในการทำงาน

“ผมเคยเป็นผบ.ทบ.มาก่อน ทำงานตั้งแต่ปี 2554 รู้ว่าต้องทำอะไร ปี 2554 ผมแก้ ไหมหล่ะ ก็คงไม่ฉลาดน้อยไปกว่าปี 2554 หรอกมั้ง เวลาเขาแจ้งอะไรก็ฟังหน่อยแล้วกันและปฏิบัติตาม พร้อมช่วยตัวเองไปด้วย ปีหน้าก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ใช่ว่าปีหน้าไม่มีฝน” นายกฯกล่าว

รถไฟชะงัก-ไปแค่หัวหิน

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ท่าอากาศยานนครศรี ธรรมราชน้ำเริ่มลดแล้ว ตอนนี้กำลังตรวจความพร้อมของรันเวย์และระบบไฟ คาดว่าจะเปิดให้บริการตามปกติใน 1-2 วัน ส่วนการช่วยเหลือ สายการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์จะช่วยส่งสิ่งของไปบริจาคในภาคใต้ และอำนวยความสะดวกเรื่องตั๋วโดยสารเครื่องบิน ด้วยการประกาศว่าผู้โดยสารในภาคใต้ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมขอเปลี่ยนหรือเลื่อนตั๋วถึงวันที่ 20 ม.ค. หรือจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลาย อีกทั้งลดราคาค่าตั๋วโดยสารเหลือ 999 บาทสำหรับผู้จองตั๋วโดยสารระหว่างวันที่ 1-15 ม.ค. และเดินทางช่วงวันที่ 1-20 ม.ค.นี้หรือจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลาย

นายอาคมกล่าวอีกว่า ส่วนเส้นทางรถไฟนั้น นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯรฟท. แจ้งว่าตอนนี้รถไฟวิ่งไปได้ถึงแค่สถานีหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะเกิดน้ำท่วมเส้นทางรถไฟในอ.บางสะพาน ขณะที่รถไฟที่มาจาก อ.สุไหงโก-ลก มาถึงได้แค่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และรถไฟจากอ.หาดใหญ่ไปถึง ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ส่วนเส้นทางรถไฟไปจ.ตรัง ยังใช้การไม่ได้ ตอนนี้จึงงดเดินรถไฟเพิ่มอีกเส้นทางคือจากอ.หาดใหญ่ไปอ.บางสะพาน หากพื้นที่ใดน้ำลดลงจะเร่งเข้าไปสำรวจและซ่อมแซมทันที

วันเดียวกัน นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธานเปิดศูนย์ช่วยเหลือประชาชนประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ โดยกล่าวว่า เพื่อบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นกรณีเร่งด่วน จึงเปิดศูนย์ช่วยเหลือ เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมเงินบริจาคของประชาชนทั่วประเทศจัดส่งให้จังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำไปบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยบริจาคเงินเข้ากองทุนผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาทำเนียบรัฐบาล เลขที่บัญชี 067-0-06895-0 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 08-1925-5129 และโทร.08-1193-1453 หรือโทร. 0-2283-4321 , 0-2283-4319, 0-2283-4301 โทรสาร 0-2283-4336 ,0-2283-4318

บริจาคท่วมใต้-ลดภาษีได้

ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ เผยว่า ครม.เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด เพื่อจูงใจให้เกิดการบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน เพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยผ่านทางส่วนราชการ องค์การ สาธารณกุศล หรือบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่เป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินบริจาคที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากร ที่นำเงินหรือทรัพย์สินไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2560 สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคมาเป็นค่าลดหย่อนหรือค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 1.5 เท่า

นายณัฐพร กล่าวอีกว่า ในกรณีบุคคลธรรมดาจะนำมาหักลดหย่อนได้กรณีเป็นตัวเงินเท่านั้น และเมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นๆ ต้องไม่เกิน 10 % ของเงินได้สุทธิ ส่วนนิติบุคคลนำมาหักลดหย่อนได้ทั้งที่เป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน และเมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 2 % ของกำไรสุทธิ นอกจากนี้ครม.ยังอนุมัติให้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากรของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีอากรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สำหรับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ที่ต้องยื่นภายในเดือนม.ค.-ก.พ.2560 ให้สามารถนำไปยื่นได้ภายในวันที่ 31 มี.ค.2560 โดยไม่เสีย เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและค่าปรับสัญญา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน