เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้นำเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงนั้น ชาว อ.เชียงของ จ.เชียงราย และเครือข่ายเห็นว่าจำเป็นต้องออกมาแสดงพลังคัดค้านมติดังกล่าว ที่จะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก โดยได้นัดหมายว่าวันที่ 5 ก.พ.ที่จะถึงนี้ พวกเราจะรวมตัวจัดกิจกรรมคัดค้านครั้งใหญ่ ที่ท่าเรือผาถ่าน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถือเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ จากตำนานปู่ละหึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพของคนเชียงของ

นายนิวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมที่จะจัดขึ้นนั้น เราจะเปิดให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ร่วมลงชื่อหยุดโครงการระเบิดแก่ง โดยเปิดให้ลงชื่อได้ทั้งทางออนไลน์และหน้างาน พร้อมจัดผ้าป่าเพื่อระดมทุนสำหรับการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงและชุมชนโดยรอบ และมีเวทีสะท้อนความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกทั้ง การแสดงพื้นบ้าน นิทรรศการภาพถ่าย ภาพงานศิลปะหลายส่วน

เมื่อถามว่า กรณีที่กรมเจ้าท่าออกมาให้ความเห็นผ่านสื่อมวลชนว่า ไม่อยากให้ชาวบ้านกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการขยายแม่น้ำโขง เนื่องจากทำได้หลายวิธี ทั้งปรับปรุงและขุดขยาย ไม่ใช่ระเบิดอย่างเดียว และหากผลศึกษาชี้ว่ากระทบมากเกินไป ก็จะไม่อนุมัติแน่นอน ทางกลุ่มรักษ์เชียงของคิดเห็นอย่างไร นายนิวัฒน์ กล่าวว่า อยากให้กรมเจ้าท่าคิดใหม่และกลับไปศึกษาข้อมูลให้ดี หรือไม่ก็ลงมาพูดคุยกับกลุ่มรักษ์เชียงของได้เสมอ เราอยากแนะนำให้มาขอข้อมูลการศึกษา ซึ่งมีงานวิจัยมีหลายชิ้นมาก ทั้งวิจัยไทบ้านและวิจัยเชิงลึกของฝ่ายวิชาการถึงความสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง หรือหากไม่เชื่อเครือข่ายชาวบ้าน ขอแนะนำให้ไปสอบถามนักวิชาการหรือจัดเวทีเสวนาเปิดข้อมูลเรื่องแม่น้ำโขง โดยให้กรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพก็ได้

“ที่เราบอกว่ากระทบ เราไม่ได้นั่งๆ นอนๆ คิดนะ เรามีงานวิจัย เรื่องพันธุ์ปลามีงานวิจัยพร้อม เรื่องระบบนิเวศมีข้อมูลเพียบพร้อมจากหลายฝ่าย เกือบ 15 ปีที่เราส่งเสริมการอนุรักษ์แม่น้ำโขง และเกาะแก่งต่างๆ ไม่ใช่เพื่อความเท่ แต่เพื่อความยั่งยืน เพื่อความยุติธรรมต่อชาวบ้าน ยิ่งศึกษาจะยิ่งเห็นว่าผลกระทบมันเยอะ”นายนิวัฒน์ กล่าว

ด้าน นายทองสุข อินทะวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า แก่งผาไดตั้งห่างจากบ้านห้วยลึกประมาณ 5 กิโลเมตรกว่าๆ ไม่เพียงแต่เป็นกลุ่มหินสวยงามที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ยังเป็นฝ่ายชะลอความแรงของน้ำโขงเพื่อไม่ให้กัดเซาะตลิ่ง โดยถือเป็นแก่งหินสุดท้ายที่เป็นจุดสิ้นสุดอาณาเขตของประเทศไทย และเป็นแก่งหินเก่าแก่ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ โดยฤดูน้ำแล้งมากที่สุดชาวบ้านจะสามารถมองเห็นหินที่เป็นหลักดินแดนที่ฝรั่งเศสใช้แบ่งเขตลาวกับไทย และถ้าโชคดีจะมองเห็นบันไดท่าเทียบเรือเก่าที่เจ้าผู้ครองเมืองในอดีตเคยใช้ประโยชน์ แต่ระยะหลังจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนน้ำโขงตอนบน ระดับน้ำจะขึ้นลงไม่ปกติ จึงมองไม่ค่อยเห็น เพราะบางครั้งน้ำท่วมและแล้งอย่างฉับพลัน ซึ่งส่วนตัวคิดว่าหากมีโครงการระเบิดแก่งขุดลอกน้ำโขงเกิดขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบน้ำมากขึ้นกว่าเดิม

“ไม่ใช่แค่ข้อกังวลเรื่องของระดับน้ำที่แปรเปลี่ยนเท่านั้น แต่การระเบิดแก่งอาจส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ของพี่น้องไทย-ลาว ริมน้ำโขงด้วย เช่น เรือสินค้าขนาดเล็กของชาวบ้านในอดีตมีการล่องแม่น้ำโขงเพื่อค้าขายระดับชุมชนอย่างคึกคัก แต่หากอนาคตระเบิดแก่ง เปิดทางเดินเรือ ทางการจะประกาศห้ามเรือเล็กออกจากฝั่ง ผู้ที่เป็นเกษตรกร ชาวประมง และคนขับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบ”นายทองสุข กล่าว

ขณะที่ พระมหาอภิวรรณ อภิวณฺโณ จำปาวรรณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าข้ามศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำประวัติศาสตร์และมีการกล่าวถึงในสมัยพระพุทธกาล ดังนั้นในการพัฒนาแม่น้ำโขงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมให้มาก อย่ามองแค่ประโยชน์ของจีนเท่านั้น จึงอยากให้อนุรักษ์พื้นที่ตรงนี้ไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน