ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรค เผย โรคหัด ยังคร่าชีวิตเด็กเล็กอย่างต่อเนื่อง พบผู้ป่วย 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พุ่งสูงถึง 2,560 ราย ตายแล้ว 18 ราย

โรคหัด – เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 12 จ.สงขลา เผยถึงสถานการณ์โรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.-17 พ.ย.61 พบผู้ป่วย 2,560 ราย โดยสูงสุดใน จ.ยะลา 1,348 ราย รองลงมา จ.ปัตตานี 741 ราย จ.สงขลา 238 ราย และ จ.นราธิวาส 173 ราย มีผู้เสียชีวิต 18 ราย จ.ยะลา 10 ราย ปัตตานี 7 ราย และสงขลา 1 ราย

ดร.นพ.สุวิช เผยว่า ยังคงพบผู้ป่วย โรคหัด อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน ส.ค. ถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ส่วนใหญ่อยู่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ผู้ป่วยเสียชีวิต อยู่ในกลุ่มเด็กอายุ 7 เดือน – 2 ปี 6 เดือน ส่วนใหญ่มีภาวะทุพโภชนาการ ทุกรายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคหัดที่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง มีประวัติไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค บางรายอายุยังไม่ครบเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีน

ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรค เผยต่อว่า ขอความร่วมมือประชาชนที่มีบุตรหลาน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กแรกเกิด – 4 ปี ให้นำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง เด็กเล็กต้องได้รับนมแม่ ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยโรคหัดจะมีภาวะขาดวิตามินเอ อาการจะรุนแรงและอาจทำให้ตาบอดได้

โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัส Measles พบได้ในจมูกและลำคอผู้ป่วย ติดต่อง่าย โดยการไอ จาม พูดในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ หากมีไข้ มีผื่นแดง ไอมีน้ำมูก เยื่อบุตาแดง ตาแดง จุดขาวๆ เล็กๆ ที่กระพุ้งแก้ม ควรรีบพบแพทย์ทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน