ผอ.ตอบปมดราม่า พยาบาลนอนคุย ไม่ลุกไปดูแม่จะคลอด จน ลูกตายคาท้อง รับดูบันทึกทั้งหมดแล้ว พร้อมเยียวยาผู้เสียหาย ด้าน 2 ผัวเมีย ยื่นหนังสือร้องศูนย์ดำรงธรรม สสจ.ราชบุรี ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง

ลูกตายคาท้อง จากกรณี น.ส.ปริชาติ บัวทอง อายุ 41 ปี และนายวิเชียร ปานดาทอง อายุ 34 ปี ชาว จ.ราชบุรี ร้องเรียนสื่อว่า โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี ทำลูกชายวัย 9 เดือนที่อยู่ในครรภ์และกำลังจะคลอดเสียชีวิต หลังนอนรอคลอดและปวดท้องอย่างหนัก แต่พอไปบอกพยาบาลกลับไม่สนใจ กระทั่งเด็กเสียชีวิต ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น อ่านข่าว สลดลูกตายคาท้อง! สาวจะคลอด ร้องเรียก พยาบาลนอนเฉยบอกให้ทนเอา

ความคืบหน้าล่าสุดวันที่ 6 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นโรงพยาบาลดังกล่าว พบกับ นพ.ประเสริฐ ฉัตรวิชชานนท์ ผอ.ร.พ.ปากท่อ จ.ราชบุรี พร้อมด้วยรองผู้อำนวยการและหัวหน้าพยาบาล ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดย นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า เคสนี้คนไข้เดินทางมาช่วงกลางวันของวันที่ 28 พ.ย. ช่วงแรกมาในเรื่องของการเจ็บครรภ์ เป็นลักษณะของการเจ็บครรภ์คลอด ทีมแพทย์พยาบาลได้ตรวจพบว่าปากมดลูกยังไม่เปิด และให้การดูแลรักษาตามมาตรฐาน มีการเช็คชีพจร เช็คความดัน การเต้นของหัวใจทารก ใช้เครื่องตรวจด้วยพบว่าปกติทุกอย่าง

เผยพบทารกหัวใจไม่เต้น

เนื่องจากปากมดลูกยังไม่เปิดโดยธรรมชาติแล้วจะอยู่ในช่วงระยะรอคลอดต้องใช้เวลาหน่อย และเคสนี้ปากมดลูกเริ่มมีการเปิดเพิ่มขึ้นตอนช่วงประมาณ 5 ทุ่ม ช่วงนั้นเราก็ดูแลเข็มข้นมากขึ้น จนพบว่าเมื่อช่วงเวลาตี 5 ชีพจรทารกแปรปวนฟังไม่ค่อยได้ยิน ระหว่างนั้นพยายามใช้เครื่องตรวจหัวใจเพิ่มเติม และก็ให้การดูแลรักษาเบื้องต้นไปก่อนด้วยการให้ออกซิเจน เพื่อเพิ่มออกซิเจนในเลือดแม่ เพื่อจะได้ส่งไปหาลูกได้ดีขึ้น ระหว่างที่ดูแลการรักษาได้ตามแพทย์มาช่วยตรวจเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง ตรวจอัลตราซาวด์พบว่าหัวใจทารกไม่เต้น เราได้ปรึกษาหมอทางสูตินารีย์แพทย์ที่โรงพยาบาลราชบุรี โดยที่แพทย์ให้ความเห็นว่าคนไข้สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ ซึ่งท้องแรกของคนไข้ น้ำหนักแรกคลอด 3.2 ก.ม. ไม่น่ามีปัญหาอะไร ให้ทำการคลอดที่โรงพยาบาลปากท่อได้

รอสอบพยาบาลไม่ลุกไปดูผู้ป่วย

ส่วนประเด็นที่ผู้เสียหายติดใจในเรื่องของการให้บริการของเจ้าหน้าที่พยาบาล ในขณะที่รอคลอด ช่วงเวลา 04.00 น. เกิดเจ็บครรภ์มาก ซึ่งผู้เสียหายได้ตะโกนแจ้งกับทางพยาบาล แต่พยาบาลกลับไม่ลุกขึ้นมาดู แล้วนอนพูดโต้ตอบกันนั้น ในประเด็นตรงนี้ทางโรงพยาบาลต้องชี้แจงว่า ได้มีการประชุมทีมไปแล้ว และได้ดูบันทึกทั้งหมด พบว่ามีการตรวจชีพจรทารก และตรวจสัญญาณชีพของแม่ทุก 1 ชม. ตลอดทั้งคืน ส่วนเรื่องประเด็นที่บอกว่าพยาบาลนอนโต้ตอบจะเร่งตรวจสอบอีกครั้ง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นอกจากนี้เรืองการเยียวยา หลังผู้ป่วยคลอดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเราได้ประชุมทีมเพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และแนวทางการช่วยเหลือ ต้องยอมรับว่ากรณีคลอดแล้ว เด็กเสียชีวิตหรือแม่เสียชีวิตเป็นเคสที่ละเอียดไม่ว่าโรงพยาบาลจะมีความผิดหรือไม่เราก็จะต้องให้การดูแล เบื้องต้นเราก็ได้มอบหมายให้พยาบาลที่มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยเข้าไปช่วยดูแล ช่วยโดยการร่วมเป็นเจ้าภาพงานศพก็มีการเรี่ยไรเงินได้ประมาณ 5,000 บาท และเงินทำบุญอีกจำนวนหนึ่ง ที่งานศพของเด็ก และเรื่อง ม.41 ด้วย ส่วนเรื่องดราม่าการให้บริการของเจ้าหน้าที่ตรงนี้ทางโรงพยาบาลรับไว้และจะนำไปปรับปรุงในระบบ

2ผัวเมียร้องศูนย์ดำรงธรรม

ขณะที่วันนี้ น.ส.ปริชาติ และนายวิเชียร พ่อแม่ของเด็กที่เสียชีวิต เดินทางไปยื่นหนังสือคำร้องต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดราชบุรี เพราะทางครอบครัวได้มีการสูญเสียลูกชายไปแล้ว เพราะเกิดจากการให้บริการของเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ จนทำให้ลูกชายต้องเสียชีวิตในขณะที่อยู่ภายในครรภ์

สสจ.ราชบุรี ตั้งคณะกรรมการสอบ

วันเดียวกัน นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย นพ.สุริยะ กล่าวว่า ตนให้ ผอ.ร.พ.ปากท่อ สอบสวนข้อเท็จจริงและทำรายงานให้ตนทราบ และส่งเจ้าหน้าที่อีกชุดเข้าไปติดตามข้อเท็จจริงอีกด้าน พร้อมกันนี้ตนจะเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวผู้เสียหายอีกครั้ง ในส่วนของประเด็นการให้บริการทางพยาบาลของเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขตรงนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ต้องขอไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งก่อน แต่เบื้องต้นได้สั่งกำชับให้มีการปรับปรุงและกำชับเจ้าหน้าที่ทุกรายต้องยึดการบริการที่ได้มาตรฐานของสาธารณะสุขเป็นหลัก โดยเฉพาะจรรยาบรรในวิชาชีพ ถ้าผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ถ้าถูกก็ต้องให้ความเป็นธรรมของเจ้าหน้าที่

ส่วนในเรื่องของการเยียวยา ในรายของผู้เสียหายรายนี้ ใช้ในสิทธิ์บัตรทอง ใช้สิทธิ์ใน ม.41 ตรงนี้ กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหาย จากการเข้ารับบริการ (มาตรา 41) พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่ง เกณฑ์การพิจารณาเงินช่วยเหลือ (1) เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ตั้งแต่ 240,000 ไม่เกิน 400,000 บาท (2) สูญเสียอวัยวะหรือพิการ ตั้งแต่ 100,000 ไม่เกิน 240,000 บาท (3) บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท ในเรื่องนี้ตนจะนำเข้าคณะกรรมการเพื่อตรวจสิทธิ์อีกครั้งและพร้อมที่จะดูแลต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน