เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 ก.พ. ที่กรมศุลกากร นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลการกร พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศีวรขาน รองผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.วรพงษ์ ทองไพบูลย์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจยึดเกล็ดลิ่นลักลอบผ่านแดนจาก ทวีปแอฟริกา จำนวน 2.9 ตัน มูลค่าประมาณ 29 ล้านบาท

นายกุลิศ กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การลักลอบค้าลิ่นและเกล็ดลิ่นในปัจจุบัน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ลิ่นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ครั้งที่ 17 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 5 ตุลาคม 2559 ณ นครโจฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้

ที่ประชุมมีมติให้ปรับระดับลิ่นขึ้นเป็นสัตว์ในบัญชี 1 ของอนุสัญญา CITES ซึ่งห้ามนำเข้า ส่งออกและนำผ่านอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับงาช้าง นอแรด เสือ โดยให้มีผลบังคับเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 และมีข้อตัดสินใจที่กำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการจัดการการค้าลิ่นผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด และเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและระหว่างประเทศ เพื่อร่วมมือในการดำเนินการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเส้นทางการค้า รูปแบบ และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อสู้กับการค้าลิ่นผิดกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้ทางกรมศุลกากรจึงได้มีนโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทยและโลก ด้วยการดำเนินการตามมติที่ประชุมของภาคีอนุสัญญา CITES โดยทางกรมศุลกากรได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกันวางแผนสกัดกั้นขบวนการลักลอบลิ่นและเกล็ดลิ่นผิดกฎหมาย

จากการประสานความร่วมมือของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ได้บูรณาการการข่าวและการสืบสวนติดตามขบวนการลักลอบค้าเกล็ดลิ่นข้ามชาติ ในเส้นทางเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และทราบว่าจะมีการลักลอบนำเกล็ดลิ่นจากประเทศคองโกผ่านประเทศไทย อ้างว่าเป็นสินค้าผ่านแดนไป สปป.ลาว เมื่อเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจสอบก็พบว่าเป็นเกล็ดลิ่น จึงได้อายัดซึ่งตามหลักการของอนุสัญญา CITES การส่งออกสัตว์ตามบัญชี 2 จะต้องได้รับใบอนุญาต CITES จากประเทศ ผู้ส่งออกและรับรองว่าไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ในธรรมชาติ หากไม่มีการอนุญาตส่งออกจะไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศปลายทางได้

ซึ่งกรณีดังกล่าวทางตัวแทนออกของไม่สามารถนำใบอนุญาต CITES ตัวจริงมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ ประกอบกับต้นทางของสินค้าเป็นประเทศเสี่ยงในการลักลอบเกล็ดลิ่น เจ้าหน้าที่จึงอายัดสินค้าทั้งหมดเพื่อนำไปตรวจสอบโดยละเอียด โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ประสานความร่วมมือไปยัง สปป.ลาว เพื่อตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้า

ซึ่งต่อมาได้รับการยืนยันว่าไม่มีการออกใบอนุญาตนำเข้าเกล็ดลิ่นแต่อย่างใด และสำนักงานเลขาธิการ CITES ได้ประสานงานสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกตรวจสอบข้อมูลใบอนุญาตส่งออก ผลการตรวจสอบพบว่าสำเนาใบอนุญาตส่งออกนั้นไม่ถูกต้อง พร้อมให้สืบสวนข้อเท็จจริงในการออกใบอนุญาตส่งออกดังกล่าว

กรณีดังกล่าวเป็นความผิดฐานนำของต้องห้ามต้องกำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พระพุทธศักราช 2469 ประกอบมาตรา 16 และมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 นำผ่านสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 23 และมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดเกล็ดลิ่นทั้งหมดไว้เป็นของกลาง สำนวนคดีส่งพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการตามกฎหมายและเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

อนึ่งตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรเคยตรวจยึดเกล็ดลิ่นจากทวีปแอฟริกามาแล้ว จำนวน 9 คดี น้ำหนักของกลางรวม 3.4 ตัน มูลค่ากว่า 35 ล้านบาท คดีส่วนใหญ่มีต้นทางจากประเทศไนจีเรีย ผ่านประเทศตุรกี ประเทศไทย เพื่อไปยังปลายทาง สปป.ลาว

นายธัญญา เปิดเผยว่า หลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานจะรับเกล็ดลิ่นของกลางทั้งหมดไปตรวจสอบว่าเกล็ดจำนวนดังกล่าวมาจากตัวลิ่นชนิดใด หากเป็นตัวลิ่นจากประเทศไทยจะมีประเภทชนิดลิ่นจีน ลิ่นชวา หรือลิ่นมอญ ซึ่งถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์ป่าลำดับที่ 157 หลังจากการตรวจสอบและพบว่าเป็นชนิดดังกล่าวก็จะทำการแจ้งข้อหาอายัดเพิ่มเติมต่อไป

ด้าน พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ เปิดเผยว่า หลักจากนี้จะมีการประสานหารือร่วมกับทางกรมศุลกากร และกรมอุทยานป่าไม้เพื่อตรวจสอบหาเส้นทางการลักลอบนำเข้า และส่งออกไปยังประเทศที่สามเพื่อใช้ทำเป็นยาบำรุงรักษาโรค อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะติดตามกลุ่มผู้ร่วมขบวนการมาดำเนินคดีตามความผิดฐาน พ.ร.บ.ฟอกเงิน ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน