71 ปี วันชาติกะเหรี่ยง กับการต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเอง

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันสำคัญของคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพม่า โดยชาวกะเหรี่ยงในแต่ละพื้นที่จะจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติ เพื่อประกาศตัวตน สิทธิในพื้นที่ดั้งเดิม และอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเองของชาวกะเหรี่ยง

ที่หมู่บ้านอัมรา เขตปกครองพิเศษตะนาวศรี อ.ตะนาวศรี จ.มะริด-ทวาย พลโท ซันนี่ ผู้นำของกองพลที่ 4 กองกำลังกะเหรี่ยง เคเอ็นยู(KNU) จัดงานวันชาติในปี 2562 ซึ่งมีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเป็นปีที่ 71 ได้รับความสนใจจากพี่น้องกะเหรี่ยงในพื้นที่ใกล้เคียงเดินทางเข้ามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายเอโดะ นายอำเภอเขตปกครองพิเศษ เล่าว่า แต่เดิมพื้นที่เขตปกครองพิเศษตะนาวศรีบริเวณนี้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงแต่ดั้งเดิม แต่เมื่อปี 2548 ถูกกองกำลังทหารของพม่าใช้อาวุธขับไล่และเข้ายึดสร้างป้อม-ค่ายในพื้นที่ ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากต้องอพยพหนีภัยสงครามไปประเทศไทย ทำให้พื้นที่บางส่วนถูกปล่อยทิ้งร้าง

ภายหลังการเซ็นสัญญาหยุดยิงระหว่างชาวกะเหรี่ยงและรัฐบาลพม่า ชาวกะเหรี่ยงจึงเริ่มกลับมาตั้งถิ่นฐานกันใหม่ แต่ก็ยังมีพี่น้องกะเหรี่ยงจำนวนมากที่ไม่มั่นใจสถานการณ์ในพื้นที่ เนื่องจากยังมีกองกำลังของทหารพม่าตั้งค่ายอยู่ในบริเวณรอบๆ ทำให้ยังไม่กล้ากลับเข้ามา

ด้านพลโท ซันนี่ กล่าวถึงความก้าวหน้าของขบวนการสันติภาพของพม่าและชนกลุ่มน้อยภายหลังจากที่ เคเอ็นยู ถอนตัวจากโต๊ะเจรจาว่า ถึงแม้จะไม่มีการพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการ แต่ทางกะเหรี่ยงและพม่าก็ยังมีการพูดคุยเจรจากันนอกรอบถึงสันติภาพระหว่างชาวกะเหรี่ยงและรัฐบาลพม่าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังกล่าวว่าพร้อมเจรจาตามกรอบข้อตกลงที่วางไว้ต่อไป

อย่างไรก็ตามพลโท ซันนี่ ขอปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีที่พม่าวางเขตงานทางปกครองทับซ้อนกับที่ เคเอ็นยู ดูแลอยู่ และแม้จะมีสัญญาหยุดยิงแต่พม่าก็ยังไม่มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ จากการสงวนท่าทีของผู้นำระดับสูงอาจอนุมานได้ว่าต้องการดำเนินการด้วยสันติวิธีและไม่อยากจะกระทบต่อขบวนการสันติภาพที่กำลังเจรจานอกรอบกันอยู่

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 71 ปีก่อนซึ่งตรงกับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2491 เป็นวันที่ชาวกะเหรี่ยงประกาศใช้วิธีทางการสงครามและอาวุธในการแยกตัวออกจากประเทศพม่าเพื่อความอิสระในการปกครองตนเอง หลังจากการเจรจาขอแบ่งแยกดินแดนตามสัญญาปางโหลงไม่เป็นผล

เหตุเพราะรัฐบาลทหารของพม่าได้ฉีกข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว ดังนั้นการจัดงานวันชาติของชาวกะเหรี่ยงนั้นจึงมีขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันที่ชาวกะเหรี่ยงพร้อมใจกับจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อแสดงจุดยืนแสดงตัวตนที่จะปกครองตนเองในดินแดนของบรรพบุรุษ

ภายในงานมีการประกาศเจตนารมณ์และสวนสนามในชุดพิธีการของทหารกะเหรี่ยง นอกจากนี้ยังมีการแสดงนาฏกรรมพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยงที่เรียกกันว่ารำตง ซึ่งนอกจากความพร้อมเพรียงสวยงามแล้วยังแฝงนัยยะที่จะแสดงต่อชาวโลกและพี่น้องชาวกะเหรี่ยงว่าชาวกะเหรี่ยงมีตัวตนในฐานะชาติพันธุ์หนึ่งที่มีจำนวนประชากรไม่น้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกองกำลังทหาร เขตแดน วัฒนธรรมและอธิปไตยเป็นของตนเองและต้องการที่จะคงไว้ซึ่งความเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองกำลังกะเหรี่ยงเป็นหนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่แข็งแกร่งและสร้างปัญหากับรัฐบาลพม่าเป็นอย่างมาก จากการสู้รบด้วยอาวุธที่ผ่านมามีความสูญเสียของทุกฝ่าย ดังนั้นกลุ่มชาติพันธุ์เริ่มมีความเห็นยินยอมเพื่อจัดตั้งประเทศในลักษณะสหพันธรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่น่าสนใจที่สุด

แต่ทางรัฐบาลพม่าดูจะไม่ตอบรับเรื่องนี้ และพยายามรวมกองทัพทั้งหมดในพม่าเป็นกองทัพเดียวภายใต้รัฐบาลพม่า นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ขัดขวางการเจรจาต่อชาวกะเหรี่ยงและชาติพันธุ์ในกระบวนการสันติภาพ

ตลอด 71 ปีที่ผ่านมาการพยายามต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงเป็นไปเพื่อความต้องการเป็นอิสระและสิทธิในการปกครองในพื้นที่ของตนเองแม้ยังไม่ประสบผล แต่ก็ไม่ลดละความพยายาม แนวโน้มภายหน้าดูจะเป็นการเจรจาในแนวทางสันติวิธีมากกว่าการใช้กำลังอาวุธ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน