คนรักษ์ทะเล เฮ!! สัตว์ทะเล 4 ชนิด ได้รับบรรจุเป็นสัตว์สงวน จ่อดัน กระเบนนก เป็นสัตว์คุ้มครอง

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงกรณี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาผ่าน ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ…. ว่า กฎหมายดังกล่าวส่งผลให้เต่ามะเฟือง วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ ได้รับการบรรจุเป็นสัตว์สงวน

ปี 2558 สมัยที่ตนเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้รวบรวมรายชื่อคนรักทะเล 50,000 ราย เพื่อสนับสนุนให้สัตว์ทั้ง 4 ชนิดเป็นสัตว์สงวนต่อที่ประชุมสปช. มีมติเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ นำเสนอต่อภาครัฐ อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง พิจารณาแล้วเห็นว่าสมควร จึงนำเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ก่อนพิจารณาอนุมัติและนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ดร.ธรณ์ กล่าวต่อว่า จากนั้นครม.อนุมัติในปี 2559 นำเสนอเพื่อทำบัญชีแนบท้าย แต่กลับพบว่า พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ไม่เปิดช่องให้ประกาศสัตว์สงวนเพิ่มเติม เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเวลาแจ้งการครอบครองซาก แต่ขณะนั้นได้บรรจุรายชื่อสัตว์ทั้ง 4 ชนิดไว้เป็นสัตว์สงวนแล้ว พร้อมบทเฉพาะกาลในการแจ้งครอบครอง เมื่อร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ… ผ่านการพิจารณาของสนช.

จึงแปลว่า สัตว์ทั้ง 4 ชนิดจะได้รับการบรรจุเป็นสัตว์สงวนด้วย จากนี้รอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ และให้มีการแจ้งครอบครองตามเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยจึงมีบัญชีรายชื่อสัตว์สงวนรวมทั้งหมด 19 ชนิด

สัตว์ทะเลทั้ง 4 ชนิด มีประชากรในธรรมชาติที่เหลือน้อยมาก ตามข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า วาฬบรูด้าเหลือประมาณ 65 ตัว วาฬโอมูระ 15-20 ตัว ฉลามวาฬไม่เกิน 100 ตัว และเต่ามะเฟือง ไม่ทราบจำนวน แต่เพิ่งวางไข่เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี และสัตว์ทั้ง 4 ชนิดล้วนมีปริมาณน้อยกว่าพะยูนที่มีประมาณ 200 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลชนิดเดียวของไทย

สิ่งสำคัญของการถูกบรรจุเป็นสัตว์สงวน กฎหมายจะช่วยคุ้มครองภัยคุกคามต่างๆ ได้ มีบทลงโทษที่หนักขึ้น มีโทษปรับ 3000,000-1,500,000 บาท จำคุก 3–15 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้คนมีจิตสำนึกในการรักษ์ท้องทะเลไทยและสัตว์ทะเลหายากของไทยไว้” ดร.ธรณ์ กล่าวย้ำ

เมื่อถามว่าจะผลักดันสัตว์ชนิดไหนขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวนอีกหรือไม่ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัตว์ที่จะผลักดันเป็นสัตว์สงวน แต่จะผลักดัน ฉลามหัวค้อน ฉลามเสือดาว และ กระเบนนก ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ขึ้นเป็นสัตว์คุ้มครอง

ดร.ธรณ์ อธิบายความแตกต่างของสัตว์สงวน และสัตว์คุ้มครอง ว่า สัตว์สงวนเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์มาก จนไม่อนุญาตให้นำมาศึกษา วิจัย หรือนำมาเพื่อการเพาะพันธุ์ได้ เพราะอาจสูญพันธุ์ ขณะที่สัตว์คุ้มครอง มีสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ พบเห็นน้อย มีระดับภัยคุกคามที่สูง และไม่สามารถใช้มาตรการเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการผลักดันขึ้นเป็นสัตว์สงวนหรือสัตว์คุ้มครอง จึงต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ทั้งประชากรที่มีอยู่กับภัยคุกคามของสัตว์ชนิดนั้นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน