อาจารย์ มช. ซัดผู้ว่าฯเชียงใหม่ แก้ปัญหาหมอกควันช้า-ไม่จริงจัง ชี้ฝุ่นพิษ คร่าชีวิตคนเพิ่มขึ้น !

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาหมอกควันของภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ พร้อมเสนอทางแก้ปัญหาโดยยกตัวแบบของประเทศอินโดนีเซีย ความว่า

ปัญหาหมอกควันปกคลุมเชียงใหม่เข้าวันที่ 4 แล้ว สถานการณ์ยังคงเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่พบว่าผู้บริหารของจังหวัด มีแผนงานอะไรที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง นอกจากการไปพ่นน้ำในจุดท่องเที่ยวของเมือง ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไร แม้แต่ภาพลักษณ์ และได้รอลมให้พัดผ่านเข้ามาตามยถากรรม

สิ่งที่น่าวิจารณ์เป็นอย่างยิ่งคือ แม้ว่าปัญหาหมอกควันจะส่งเค้ามาตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปีนี้ วิกฤตน่าจะมาเร็วกว่าปีก่อนหน้า แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด กลับยืนยันที่จะประกาศให้เริ่มรณรงค์หยุดเผา 61 วัน ในวันที่ 1 มีนาคม

พลันที่มีการประกาศ ชุมชนชาวเชียงใหม่ต่างพากันตั้งคำถาม และเรียกร้องให้จังหวัดจริงจังกับเรื่องนี้ และเริ่มต้นแก้ปัญหาโดยทันที แต่เสียงร้องเหล่านี้ กลับไม่ได้รับการตอบสนองใดๆจากผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งยังผลให้หน่วยงานต่างๆในจังหวัดเริ่มต้นแก้ปัญหานี้ล่าช้าตามกันไป จำได้ว่าดิฉันโทรไปที่เทศบาลแม่เหียะ สอบถามเรื่องนี้ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ ทางเทศบาลยืนยันอยู่เพียงสองอย่างว่า 1. ค่าฝุ่นยังไม่เกินมาตรฐาน และ 2. เราทำตามคำสั่งของจังหวัด

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ความล่าช้าในการแก้ปัญหาของจังหวัด ไม่ว่าจะมาจากความอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพของข้าราชการ ที่ไม่สนใจ ไม่จริงจัง วิตกกลัวว่า ยอดการท่องเที่ยวจะตกต่ำหากข่าวแพร่ออกไป

หรือเพราะการที่ข้าราชการเหล่านี้ ไม่ได้มาจากประชาชน จึงไม่จำเป็นต้องมี accountability ใดๆทั้งสิ้น ต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือรวมสาเหตุกันทั้งหมด ได้สร้างหายนะภัยอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตและสุขภาพของคนเชียงใหม่

แพทย์ของมช.เอง ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ค่าฝุ่น p.m.2.5 ได้คร่าชีวิตของคนในอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 1.6% เพียงในเวลา 1 สัปดาห์ ประชาชนที่เชียงดาวเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3.5% ในขณะที่ผู้ป่วยที่นอนรพ.ที่นั่นเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 15% ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนวิกฤตด้านสุขภาพจากภัยของฝุ่น p.m. 2.5 ที่อันตรายอย่างน่าตกใจ แต่เรากลับไม่พบว่า หน่วยงานราชการของจังหวัด มองปัญหานี้ว่าเป็นวิกฤตแต่อย่างใด

และถ้าเทียบกับการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควันจากการเผา (Haze) ในประเทศเพื่อนบ้านเช่น อินโดนีเซีย ที่เจอกับปัญหาหมอกควันครั้งใหญ่ในปี 2015 เราจะพบความต่างราวฟ้ากับเหว เพราะในขณะที่ในอินโดนีเซียนั้น รัฐตั้งแต่ระดับประเทศ ไปจนกระทั่งผู้ว่าฯของสุมาตรา กระโดดลงมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ตั้งเป้าที่จะลดปัญหาหมอกควันให้เหลือ 0%ให้ได้ แก้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้น มีการฟ้องเอาโทษกับบริษัทปาล์มน้ำมันที่เป็นต้นตอของการเผาเคลียร์พื้นที่เพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง การย้ายบริษัทเหล่านี้ออกจากพื้นที่ป่า

การใช้แผนที่เพื่อ monitor ปัญหา การทำแผนงานกับชุมชนอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อลดการเผาและหาวิธีทดแทน มีการประเมินความคืบหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ฯลฯ เหล่านี้ ภายในเวลาเพียงแค่สามปี ปัญหาหมอกควันจากการเผาของอินโดนีเซีย แทบจะหมดไป

แต่สำหรับในไทย และในเชียงใหม่ เราจะไม่เคยได้ยินแผนงานระยะยาวที่เป็นรูปธรรม นอกจากการขอร้องและรณรงค์ ที่ไม่สามารถวัดผลการเปลี่ยนแปลงอะไร ใดๆ ได้ ผู้ว่าฯและหน่วยงานรัฐในจังหวัด ได้แต่โทษ “ข้อจำกัดทางธรรมชาติ” ไม่ว่าจะความเป็นแอ่งกระทะ การเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน ความกดอากาศต่ำ ฯลฯ ราวกับจะบอกว่า ด้วยเงื่อนไข “ตามธรรมชาติ” เหล่านี้ ประชาชนจงรอวันเป็นมะเร็งปอดตายกันไปเถิด

สำหรับประชาชนตาดำๆ การอยู่กับระบบราชการที่ขาด accountability ต่อประชาชน ขาดแรงจูงใจที่จะแสวงหาหนทางใหม่ๆ ขาดสติปัญญาและพลังในการค้นหาความรู้ใหม่ๆ แผนงานใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ “ดีขึ้น” เป็นราชการที่รอวันเกษียณ ที่ดันมีอำนาจบริหารวิกฤตของชาวเชียงใหม่อยู่

ในขณะนี้ ชีวิตแบบนี้ของชาวเชียงใหม่ จึงไม่ต่างจากการถูกแขวนไว้ระหว่างชั้นบรรยากาศที่กดทับลมหายใจให้ปริ่มอยู่ขอบเหว ได้แต่ตื่นเช้ามาบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้เทพาอารักษ์ ได้พาลมร้อนให้พัดผ่านมา ช่วยชีวิตของชาวเชียงใหม่เสียที

และหากเทพาอารักษ์จะมีจริงและศักดิ์สิทธิ์ หลังจากพาลมร้อนมาแล้ว ได้โปรดช่วยพาเอาผู้บริหารชุดนี้ของเชียงใหม่ออกไปด้วยเถิดนะคะ

อ่านฉบับเต็ม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน