เผย พะยูน เกาะลิบง ถูกนักท่องเที่ยวรบกวนหนัก ชี้ต้องเร่งสร้างกติกา ดูแลอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงาน มูลนิธิอันดามัน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการดูพะยูนรอบๆเกาะลิบง จังหวัดตรัง เนื่องจากมีการขับเรือพานักท่องเที่ยวไล่ล่าเพื่อให้ได้เห็นและถ่ายภาพพะยูนที่กำลังกินหญ้าทะเลว่า ทุกฝ่ายอยากให้ชุมชนอยู่ร่วมพะยูนอย่างเป็นมิตร ซึ่งทำให้เขาอนุรักษ์และดูแลพะยูน โดยที่ผ่านมาได้มีการคุ้มครองพื้นที่หญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับดูแลพะยูน

นายภาคภูมิ กล่าวว่า การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งควรมีการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ที่มีประโยชน์ต่อท้องถิ่น แต่วิธีท่องเที่ยวต้องรบกวนพะยูนน้อยที่สุด ซึ่งเมื่อ 6-7 เดือนก่อนเคยมีการทำข้อตกลงร่วมกันจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อถึงจุดชุมพะยูนให้ใช้ไม้ถ่อเรือเพื่อดูพะยูน โดยอาจมีเสาปักเพื่อผูกเรือเอาไว้

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

หากต้องการชมพะยูนก็ให้ถ่อหรือพายเรือไปดู แต่ข้อตกลงนี้ยังไม่มีการปฎิบัติอย่างเป็นจริง ดังนั้นจำเป็นต้องนำข้อตกลงดังกล่าวเขียนเป็นระเบียบ เพื่อให้เกิดการปฎิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งทราบข่าวว่าขณะนี้นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้ดำเนินการในเรื่องนี้แล้วซึ่งจะมีการประชุมกันในวันที่ 19 เมษายน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการตรวจพบหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของพะยูนตายในบริเวณกว้างว่าน่าจะมาจากสาเหตุใด นายภาคภูมิ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีทีมของส่วนอนุรักษ์ฯไปตรวจสอบและแจ้งว่าเป็นการตายปกติ แต่ชาวบ้านเห็นว่า ไม่ใช่เป็นการตายปกติ อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังประสานเชิญนักวิชาการเข้าไปดูอีกครั้ง

ส่วนที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการขุดรอกแม่น้ำตรังนั้น มีความเป็นไปได้เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้มีการขุดรอกแม่น้ำตรังครั้งใหญ่มากโดยใช้งบประมาณหลายสิบล้านบาท เพราะมีมวลดินจำนวนมากที่ถูกนำไปทิ้งในทะเลซึ่งเป็นไปได้ว่าตะกอนดินเหล่านั้นนั้นจะไปถมทับหน้าทะเลเพราะสภาพดินที่ขุดเป็นโคลน

ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ภายใต้คณะกรรมการทะเลแห่งชาติฯ กล่าวว่า ได้แจ้งเรื่องนี้ให้อธิบดีกรมอุทยานฯ และผู้บริหารกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ทราบตั้งแต่วันแรกที่เห็นข่าว

ทั้งนี้การท่องเที่ยวชมสัตว์หายาก ต้องให้ความสำคัญกับสัตว์เป็นอันดับแรก และต้องมีกฎระเบียบเพื่อป้องกันการรบกวนพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์โดยเฉพาะพะยูน สัตว์สงวนของไทย ซึ่งมีลำดับความสำคัญสูงสุดตามกฎหมายในแง่ของการอนุรักษ์

ดร.ธรณ์ กล่าวว่า กติกาที่พึงมีและควรได้รับการดูแลอย่างเคร่งครัด 1. ห้ามลงน้ำ/ดำน้ำกับพะยูน 2. ห้ามขับเรือไล่ ต้องดับเครื่องเมื่อเข้าใกล้ 3. เมื่อพะยูนแสดงให้เห็นว่า ถูกรบกวนพฤติกรรม ต้องยุติกิจกรรมทั้งปวง 4. เรือทุกลำต้องลงทะเบียน เพื่อสามารถจัดการดูแลได้ 5. ควรมีคณะทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดกติกา/จำนวนเรือในพื้นที่ ตลอดจนปรึกษาหารือเรื่องอื่นๆ ร่วมกัน 6. ควรต้องมีการศึกษาเรื่องการท่องเที่ยวชมพะยูนเป็นการเร่งด่วน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน