โนราโรงครูวัดท่าแค2019 ส่องพิธี‘คล้องหงส์-เหยียบเสน’:รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ – แม้จะไปภาคใต้หลายครั้งหลายหน แต่ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ไปชมการแสดงมโนราห์แบบเต็มอิ่ม โดย “คุณลดาวัลย์ ช่วยชาติ” ผอ.ททท.สนง.นครศรีธรรมราช เชิญไปร่วมงาน “พิธีกรรมโนราโรงครู สืบสานศิลป์ถิ่นโนรา” ที่วัดท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง ระหว่าง 15-19 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งที่นี่เป็นจุดกำเนิดโนราแห่งแรกของบ้านเรา เนื่องจากวัดนี้มีหลักพ่อขุนศรีศรัทธา หรือเขื่อนขุนทา ปรมาจารย์โนรา เชื่อกันว่าท่านผู้นี้เป็นครูโนราูคนแรก กระทั่งต่อมามีการสร้างรูปปั้นขุนศรีศรัทธา ด้วยเหตุนี้จึงจัดพิธีโนราโรงครูขึ้นที่วัดท่าแคเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2514

โนราใหญ่เหยียบหน้าสาวรายนี้จุดที่เป็นเสน

ประมาณกันว่าหลายจังหวัดในแดนใต้มีวงมโนราห์กว่า 500 โรง และจะมีการจัดพิธีกรรม “โนราโรงครู” อยู่ทั่วไป อันประกอบด้วยกิจกรรมหลายอย่าง

แต่พิธีกรรมโนราโรงครูที่วัดท่าแคมีความพิเศษกว่าที่อื่น ตรงที่เป็นงานใหญ่ที่มีผู้คนมาร่วมงานหลายพันคน มีทั้ง “ครูหมอโนรา” หรือ “ตายายโนรา” บรรดาโนราทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ รวมถึงผู้สนใจ

กิจกรรมของงานในแต่ละปีก็เหมือนๆ กัน เช่น ทำพิธีโนราตั้งบ้าน ตั้งเมือง และมีพิธีเชิญครู บวงสรวงครู ผูกผ้าต้นโพธิ์ รำถวายศาล การแก้บน และพิธีเหยียบเสน การรำ 12 ท่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมรำพิธีแก้บน พิธีแก้บนพราน การรำคล้องหงส์ การจัดบทสิบสอง และการแทงเข้

พิธีคล้องหงส์

กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าโนราผูกพันกับวิถีชีวิตของคนใต้ เป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อในพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ และการถือผี จนก่อให้เกิดพิธีกรรมต่างๆ ที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานสืบทอดกันต่อๆ มา ซึ่งถ้าได้ไปเห็นพิธีกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะพิธีเชิญครู บวงสรวงครู การเหยียบเสน และการรำแก้บน อาจจะเกิดความรู้สึกต่างๆ นานา และอาจจะเกิดความขัดแย้งในใจสำหรับคนที่ไม่เชื่อเรื่องราวที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้การแสดงโนราหรือมโนราห์นั้นเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ที่มี 2 ลักษณะคือ มโนราห์ที่เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงทั่วไป กับมโนราห์โรงครู เป็นการแสดงเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “ครูหมอโนรา” ซึ่งเป็นบรรพบุรุษผู้สืบสายเลือดการแสดงที่ ล่วงลับไปแล้ว และมีความเกี่ยวข้องแนบแน่นกับวัฒนธรรมของชาวใต้ คือการยึดมั่นในความดีและความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ โดยมีความเชื่อว่าลูกหลานมโนราห์ที่มีการบูชาครูอย่างถูกต้อง จะทำให้ชีวิตมีความรุ่งเรือง แต่หากทำผิดหรือไม่บูชาครู จะทำให้ชีวิตอับจน มีความเจ็บป่วย เป็นต้น

ดังนั้น พอขึ้นเดือน 6 ในช่วงปลายเดือนเม.ย.-พ.ค.ของทุกปี คณะมโนราห์และลูกหลานเชื้อสายมโนราห์ จะจัดกิจกรรม “โนราโรงครู” ขึ้น เพื่อแสดงความกตัญญูต่อครูหมอโนรา และบรรพบุรุษ มีการทำพิธีแก้เหมย(แก้บน) รวมทั้งประกอบพิธีครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่ หรือแต่งพอกให้กับโนรารุ่นใหม่

ในงานครั้งนี้ได้มีโอกาสสนทนากับ “โนราเกรียงเดชน้อย นวล ระหงส์” อายุ 33 ปี หรือ คุณเกรียงเดช ขำณรงค์ ในฐานะเจ้าพิธี เขาเป็นหลานชายของโนราแปลก ท่าแค (แปลก ชนะบาล) เป็นหนุ่มร่างบึกบึน แต่รำมโนราห์ได้อย่างอ่อนช้อย แถมมีปริญญาตรีพ่วงท้าย โดยเรียนจบวิศวะโยธา หลักสูตรนานาชาติ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งก่อนจะมาเป็นโนราเต็มตัว เขาเคยทำงานบริษัทมาก่อน แต่สุดท้ายได้ค้นพบกับตัวเองว่าชะตาชีวิตกำหนดให้เป็นโนราตามบรรพบุรุษ

สืบเนื่องมาจากช่วงเรียนปริญญาตรีเขาเป็นโรคเนื้องอกในกระดูกจนต้องผ่าตัดถึง 5 ครั้ง แต่พอตัดสินใจทิ้งอาชีพมนุษย์เงินเดือนมาเอาดีทางโนรา เขาก็ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยอีกเลย ซึ่งเป็นความเชื่อว่าเป็นเพราะครูหมอโนราต้องการให้สืบทอดวิชา

โนราเกรียงเดชเล่าว่า วลีหนึ่งที่คนในวงการโนราสืบทอดกันมาก็คือ “แต่งตัวเทียมเจ้า กินข้าวเทียมหมา” หมายถึงการแต่งตัวของโนราที่มีเสื้อผ้าอาภรณ์และของประดับตกแต่งต่างๆ นั้นเหมือนเครื่องแต่งกายของเจ้าของกษัตริย์ แต่ชีวิตความเป็นอยู่นั้นเรียบง่าย เห็นได้ชัดจากโรงที่แสดงรำมโนราห์นั้นจะสร้างกันแบบง่ายไม่วิลิศมาหราอะไร

ลดาวัลย์ ช่วยชาติ กับเครื่องแต่งกายโนรา

เจ้าตัวย้ำว่า แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป และโลกก้าวหน้าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่โนราไม่มีวันสูญหายเพราะมีพิธีกรรมและความเชื่อที่ลูกหลานจะต้องสืบทอดวิชาต่อจากบรรพบุรุษ ซึ่งถ้าลูกหลานคนไหนที่ถูกเลือกสรรไว้แล้วไม่สืบทอดต่ออาจจะมีอันเป็นไป หรือไม่ก็เจ็บไข้ได้ป่วย อย่างที่เขาเคยเจอมากับตัวเอง

พร้อมกันนั้นโนราหนุ่มรายนี้เป็นผู้ชักชวนโนราจากคณะและสายต่างๆ ที่มีฝีไม้ลายไม้และเป็นโนราชั้นครูให้มารวมตัวกัน ในนามคณะเทพศรัทธา ซึ่งเป็นคณะโนราที่มีชื่อเสียง

ย้อนมาในช่วงทำพิธีเชิญครู บวงสรวงครู ปรากฏว่ามีบรรดาหญิงและชายจำนวนหนึ่งเข้ามาในเต็นท์พิธีด้วยอากัปกิริยาแตกต่างกันไป บางคนก็รำเข้ามาอย่างสวยงาม บางคนก็เต้นกระตืบๆ เข้ามา บ้างก็ปีนเสาเต็นท์ บ้างก็ร้องห่มร้องไห้และมีญาติพี่น้องประคองเข้ามา บางคนมีคนหิ้วปีกเข้ามาอย่างทุลักทุเล บ้างก็ทำท่าขึงขัง บางคนบ่นพึมพำ บางคนนั่งตัวสั่น บางคนอยู่ในวัยหนุ่มสาวแต่นั่งเคี้ยวหมาก

เห็นแล้วน่าประหลาดใจและเหลือเชื่อมากทีเดียว สอบถามได้ความว่าเป็นเพราะครูหมอโนรามาเข้าทรง เนื่องจากคนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นครูหมอโนราอยู่แล้ว

โนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ เจ้าพิธี

ไฮไลต์ของงานนี้อีก 2 อย่างที่ผู้คนรอ คอยชมกันก็คือ “พิธีรำคล้องหงส์” และ “การรำแทงเข้” โดยก่อนจะคล้องหงส์บริเวณลานด้านนอก ภายในโรงพิธีจะจัดแสดงเรื่องพระ สุธน มโนราห์ ในส่วนของการรำแทงเข้ มาจากความเชื่อในเรื่องการทิ้งเคราะห์ลอยโศกไปกับจระเข้ จะทำให้การดำเนินชีวิตราบรื่นด้วยดี โดยโนราเจ้าพิธีแสดงเป็น “ไกรทอง” พาพรรคพวกออกมาจากโรงพิธีไปลานที่ตั้งจระเข้จำลอง คล้ายกับการไปไล่ล่าชาละวัน

พิธีอีกอย่างที่น่าสนใจคือ “เหยียบเสน” ซึ่งเป็นเนื้องอกที่นูนขึ้นมาเป็นแผ่นสีแดง เรียกว่าเสนทอง ถ้าเป็นแผ่นสีดำ เรียกเสนดำ เสนจะไม่มีอาการเจ็บ หากเป็นตรงไหน หลังจากโนราใหญ่ทำพิธีตามขั้นตอนเสร็จ พร้อมว่าคาถากำกับและร่ายรำท่าเฉพาะ โนราใหญ่จะใช้หัวแม่เท้าไปแตะตรงที่เป็นเสนแล้วเหยียบเบาๆ

จากนั้นนำกริช พระขรรค์ ไปแตะตรงที่เป็นเสนและบริกรรมคาถา ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง เชื่อกันว่าหลังจากนี้เสนจะค่อยๆ หายไป ถ้าไม่หายให้ทำอีกจนครบ 3 ครั้ง เสนจะหายหมด ในงานนี้พ่อแม่ต่างหอบลูกจูงหลานหลายสิบคนมาทำพิธี

คุณลดาวัลย์ให้ข้อมูลด้วยว่า ในความเป็นจริงการแสดงมโนราห์ทุกวันนี้ ใช่จะเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวใต้อย่างเดียว แต่ยังมีส่วนในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนด้วย เพราะในการแต่งตัวของโนรานั้นมีเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับหลายอย่าง ซึ่งถือเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง เพราะมีทั้งเสื้อผ้าและเครื่องประดับอย่างเทริดที่ใช้สวมศีรษะ มีราคาตั้งแต่หลักพันจนถึงหมื่น นอกจากนี้ยังมีการนำลูกปัดสีสันสวยสดเหล่านี้ไปตกแต่งในงานต่างๆ ด้วย อาทิ ตกแต่งกระเป๋ากระจูด ทำเป็นสร้อยแฟชั่น หรือทำเป็นพวงกุญแจ

ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นอีกมุมหนึ่งของวิถีชาวใต้ ซึ่งผูกพันอยู่กับวิถีโนรามาตั้งแต่โบร่ำโบราณ และเชื่อว่าโนราจะยังคงอยู่กับคนปักษ์ใต้อีกต่อไปตราบนานเท่านาน

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

อ่านข่าว

  • เอกชัย ศรีวิชัย ล่องพัทลุง เปิดตัวหนัง “โนราห์” เชิดชูศิลปะวัฒนธรรมชาวใต้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน