สธ.ประกาศ “ไข้เลือดออก” ระบาดครั้งใหญ่ พบป่วยตายพุ่งไม่หยุด คาดปีนี้แสนราย

วันที่ 14 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมยุงลายฉบับที่ 3 (พ.ศ.2562-2566) ระหว่าง 9 หน่วยงาน ได้แก่ สธ. กระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อควบคุมโรคไข้เลือดออก ซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้มีจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้น เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในไทยและอาเซียน เพราะเป็นพื้นที่ร้อนชื้น

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก คาดว่า แต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีประมาณ 50-100 ล้านคน ร้อยละ 70 เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน

ส่วนไทยพบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 ถึงปัจจุบันมีผู้ป่วย 28,785 ราย สูงกว่าปี 2561 ถึง 1.7 เท่า เสียชีวิต 43 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.15

อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งปีจะมีผู้ป่วยถึง 100,000 ราย ขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย หากมีไข้สูงลอย 2 วันไม่ลด ให้รีบพบแพทย์ ไม่ต้องรอจนมีจ้ำเลือด เพราะจะสายเกินไป และให้หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพริน และยาในกลุ่มเอ็นเสด

เมื่อถามว่าจากสถานการณ์ถือว่าเป็นการระบาดใหญ่หรือไม่ นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สามารถประกาศได้ เพราะตอนนี้ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ของค่าเฉลี่ยผู้ป่วยในรอบ 5 ปี อัตราการเสียชีวิตพุ่งถึง 1.6 ต่อ 1 พันประชากรที่ป่วย

ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานกำหนดไว้คือ 1 ต่อ 1 พันประชากรที่ป่วย อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตปีนี้ก็แซงตัวเลขปี 2558 ซึ่งเป็นการระบาดใหญ่ของไข้เลือดออกไปแล้ว คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงกว่าปี 2558 ด้วย

ทั้งนี้ สาเหตุที่พบอัตราการป่วยมากในปีนี้ เพราะปีที่แล้วแม้จะควบคุมโรคได้ดี แต่ยังมีเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ในธรรมชาติ พอมาในปีเลยพบมากขึ้น และมีโอกาสติดเชื้อครั้งที่ 2 ทำให้มีอาการรุนแรงได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานสรุปสถานการณ์ไข้เลือดออก ประจำสัปดาห์ที่ 22 ปี 2562 สรุปยอดเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ของกรมควบคุมโรค พบว่า มีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 28,785 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2,355 ราย เสียชีวิต 43 ราย อัตราป่วย 43.57 ต่อแสนประชากร อัตราเสียชีวิตร้อยละ 0.15

โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วยสูงสุด 10,758 ราย เสียชีวิต 16 ราย ภาคกลางป่วย 10,303 ราย เสียชีวิต 19 ราย ภาคใต้ ป่วย 4,573 ราย เสียชีวิต 7 ราย และภาคเหนือป่วย 3,151 ราย เสียชีวิต 1 ราย

เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า อายุ 5-14 ปี ป่วยมากสุด 11,965 ราย เสียชีวิต 21 รายรองลงมาคือ 15-34 ปี ป่วย 10,654 ราย เสียชีวิต 11 ราย

อายุ 35-59 ปี ป่วย 3,375 ราย เสียชีวิต 5 ราย อายุ 0-4 ปี ป่วย 1,979 ราย เสียชีวิต 6 ราย และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ป่วย 812 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

นอกจากนี้ อุบลราชธานี มีอัตราการเสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้ว 8 ราย รองลงมา คือ ราชบุรี 3 ราย นครศรีธรรมราช 3 ราย

สำหรับพื้นที่ระบาดสีแดงมี 405 อำเภอ พื้นที่เสี่ยงสีเหลือง 188 อำเภอ อำเภอที่มีผู้ป่วยมากกว่า 50 ราย คือ อุบลราชธานี 4 อำเภอ คือ อ.เดชอุดม อ.น้ำยืน อ.นาจะหลวย และ อ.เมือง

ส่วนนครราชสีมา มี 3 อำเภอ คือ อ.ปากช่อง อ.สูงเนิน และ อ.เสิงสาง ศรีสะเกษ 1 อำเภอ คือ อ.กันทรลักษณ์ เลย 1 อำเภอ คือ อ.ภูกระดึง และชลบุรี 1 อำเภอ คือ อ.ศรีราชชา

สำหรับอัตราการป่วยและเสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2561-2557 พบว่าปี 2561 มีผู้ป่วย 17,302 เสียชีวิต 21 ราย ปี 2560 มีผู้ป่วย 13,961 ราย เสียชีวิต 27 ราย ปี 2559 ผู้ป่วย 19,029 ราย เสียชีวิต 16 ราย

ปี 2558 ผู้ป่วย 24,248 ราย เสียชีวิต 13 ราย และปี 2557 ป่วย 10,670 ราย เสียชีวิต 7 ราย อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดใหญ่ พบว่ามีผู้ป่วยทั้งปีอยู่ที่ 142,925 ราย เสียชีวิต 141 ราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน