ปริมาณน้ำโขงผันผวนหนักในรอบ 38 ปี เหตุจากเขื่อนตอนบน ชาวบ้านเตรียมบุกสถานทูตจีน-ยื่นหนังสือถึงสี จิ้น ผิง เร่งแก้ปัญหา“ครูตี๋”โวยแดนมังกรกักน้ำจากหิมะเป็นเหตุให้ฤดูฝนน้ำแห้งผิดปกติ

วันที่ 27 มิ.ย. นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า กำลังวางแผนเดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือถึงนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีของจีน เพื่อขอให้ทบทวนระบบการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนจีนซึ่งส่งผลกระทบกับประเทศท้ายน้ำทั้งพม่า ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม เนื่องจากเห็นได้ชัดถึงระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อชุมชนเกิดขึ้นมากมายเนื่องจากการกักน้ำและปล่อยน้ำของจีนที่อำนวยความสะดวกให้กับเรือสินค้าและผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก

“ที่เห็นได้ชัดในปีนี้คือช่วงหน้าแล้งเมื่อไม่กี่เดือนก่อน จีนปล่อยน้ำมาหลายระรอกเพื่อให้เรือสินค้าของเขา ทำให้น้ำโขงท่วมสูงผิดปกติ จนก่อความเสียหายให้กับชุมชนริมแม่น้ำโขง รวมทั้งนกต่างๆ ที่วางไข่ในลำน้ำโขง แต่ตอนนี้ย่างเข้าหน้าฝน ปกติน้ำในแม่น้ำโขงจะเพิ่มสูงขึ้น และจีนก็จะเร่งระบายน้ำ แต่พอเขาเห็นว่าปีนี้ฝนยังไม่มา จีนกลับกักน้ำไว้ ทั้งๆ ที่มีน้ำจากหิมะต้นแม่น้ำเคยไหลหล่อเลี้ยงแม่น้ำอยู่เสมอ ทำให้ช่วงต้นฝนนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงแห้งผิดปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก ถ้าจีนมีน้ำใจจริงก็ควรปล่อยน้ำจากหิมะให้ไหลลงมาบ้าง ไม่ใช่กักเอาไว้ใช้เองทั้งหมด” นายนิวัฒน์ กล่าว

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า การที่จีนควบคุมการบริหารจัดการน้ำบริเวณต้นแม่น้ำโขงทั้งหมดโดยไม่เข้าใจวิถีวัฒนธรรมของชุมชนท้ายน้ำ ทำให้เกิดความเสียหายและความเดือดร้อนมากมาย โดยในแต่ละฤดูกาลควรมีปริมาณน้ำที่เหมาะสมเพื่อให้ระบบนิเวศได้ทำหน้าที่ ดังนั้นจึงควรมีการหารือร่วมกัน โดยเครือข่ายชาวบ้านได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปเสนอให้ทางการจีนได้เข้าใจ

“เขื่อนจีนเป็นตัวอย่างของการทำลายวงจรธรรมชาติ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เกิดผลกระทบมากมาย อนาคตอันใกล้ก็กำลังมีเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างอีก ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนไซยะบุรี หรือโครงการที่กำลังจะเกิดคือเขื่อนหลวงพระบาง ดังนั้นทุกภาคส่วนควรหยิบยกเรื่องราวเหล่านี้มาหารือกัน โดยเฉพาะอาเซียนควรกำหนดให้ปัญหาของแม่น้ำโขงเป็นวาระสำคัญและนำไปเจรจาต่อรองกับจีน” นายนิวัฒน์ กล่าว

จากการตรวจสอบสถิติปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง จากเว็บไซด์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 -พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งของแม่น้ำโขง พบว่า ปริมาณน้ำโขงเขตเชียงแสนมีความผันผวนสูงสุดในรอบ 38 ปี และพบว่า ระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ -เมษายน ก่อนที่ระดับน้ำจะลดลงอย่างฮวบฮาบในช่วงสงกรานต์ ซึ่งทางการจีนประกาศงดปล่อยน้ำจากเขื่อนจิงหงโดยอ้างเหตุผลทางวัฒนธรรมสงกรานต์ของไทลื้อในเมืองเชียงรุ่ง

โดยในปี 2662 ทางการจีนเริ่มปล่อยน้ำจากเขื่อนอีกครั้งหลังสงกรานต์ ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายนซึ่งเริ่มเป็นช่วงต้นฤดูฝน เมื่อตรวจสอบระดับน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำที่เชียงแสนบนเว็บไซด์เดียวกันก็พบว่า ระดับน้ำแม่น้ำโขงที่เชียงแสนลดลงอย่างต่อเนื่องและมีระดับต่ำกว่าปี 2561 นับตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2562 จนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวพื้นที่แม่น้ำโขงบริเวณ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ระหว่าง 20-23 มิถุนายน 2562 พบว่าระดับน้ำแม่น้ำโขงแห้งลงไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร และมีเนินทรายโผล่และพบชาวบ้านกำลังเก็บไก(สาหร่ายแม่น้ำโขง) บริเวณเกาะกลางแม่น้ำโขงเช่นเดียวกับหน้าแล้ง

น.ส.เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ประสานงานกลุ่มจับตามการลงทุนเขื่อนลาว กล่าวว่า จีนต้องปรับความสัมพันธ์ใหม่ ทั้งในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล และระดับรัฐบาลจีนต่อภาคประชาชนเพราะต้องยอมรับว่าการสร้างเขื่อนในจีนได้ส่งผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันเราไม่เห็นว่าทางการจีนกับรัฐบาลในประเทศท้ายน้ำจะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร สิ่งที่ได้เห็นเป็นเพียงการต่อรองที่ยังไม่เพียงพอและทางการจีนก็ยังไม่เคยแสดงท่าทีอะไรต่อปัญหานี้

น.ส.เปรมฤดี กล่าวว่า สถานการณ์ที่เด่นชัดมากคือผลกระทบที่เกิดขึ้นในแหล่งที่เป็นหัวใจสำคัญของแม่น้ำโขง ทั้งบริเวณปากแม่น้ำในประเทศเวียดนามซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่ดีที่สุดและแหล่งปลาในประเทศกัมพูชา ซึ่งต้องยอมรับว่าสถานการณ์การพัฒนาและปัญหาที่เกิดขึ้นยังมีช่องว่างใหญ่โตมากซึ่งประชาชนได้รับผลกระทบ เพราะตรงนี้เป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตของชาวบ้านที่เขาเลือกแล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำมาคิดออกแบบร่วมไปกับการพัฒนา ทำให้ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผลของความย้อนแย้ง

น.ส.เปรมฤดี กล่าวว่า อาเซียนมีแนวทางการพัฒนาร่วมกันซึ่งได้รับอิทธิพลจากการบูรณาการทางเศรษฐกิจซึ่งไม่ได้ซับซ้อนและเปิดให้มีการลงทุนข้ามพรมแดนซึ่งเป็นนักลงทุนกลุ่มเดียวกัน และเขาเห็นว่า ต้องทำให้การเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กันในระดับภูมิภาค แต่ตราบใดที่อาเซียนยังไม่มีแนวทางให้ภาคประชาชนได้เข้าไปต่อรอง สถานการณ์ก็จะไม่แตกต่างจากสิ่งที่ปรากฎบนแม่น้ำโขง ดังนั้นถ้าเอาประสบการณ์ของประชาชนในแม่น้ำโขงมาพิจารณาก็จะพอมีทางออก

“จริง ๆ แล้วกลุ่มรักษ์เชียงของได้เกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งบริษัทเอกชนจีนก็ได้เข้ามาหารือด้วย ดังนั้นหากคนของรัฐบาลจีนจะหันหน้ามาหารือและทำความเข้าใจกันก็เป็นเรื่องที่ดี ดิฉันเข้าใจว่าระยะหลังนี้ รัฐบาลจีนก็พยายามทำความเข้าใจอยู่เหมือนกัน” น.ส.เปรมฤดี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน