ชาวนา เมืองพิจิตรปิ๋งไอเดีย! ใช้โดรนฉีดพ่นฮอร์โมน-ยาฆ่าแมลง แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน-กระทบสุขภาพ เผยกลายเป็นอาชีพเสริมช่วยครอบครัว ชี้เหมาะกับเกษตรยุค 4.0

วันที่ 2 ก.ค. นายเมธรวิสร์ ด้วงกูล ปลัดอำเภอเมืองพิจิตร ซึ่งเป็นผู้รับจ้างใช้โดรนในการฉีดพ่นให้ปุ๋ย-ยา กับพืชด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่ กล่าวว่า ตนรับราชการ แต่ครอบครัวคือแม่และญาติพี่น้องมีอาชีพทำนา ประสบปัญหาขาดแรงงานภาคการเกษตร จึงเกิดแนวคิดลงทุนไปซื้อโดรนที่สามารถบรรจุน้ำได้คราวละ 10 ลิตร ที่ผสมกับปุ๋ย-ยา ในการฉีดพ่น ขึ้นบิน 1 ครั้ง จะฉีดพ่นได้คราวละ 3-4 ไร่ ต้องนำเครื่องร่อนลงมาเติมน้ำและเติมสารหรือฮอร์โมนจุลินทรีย์ที่ใช้ฉีดพ่น

นายเมธรวิสร์ กล่าวต่อว่า แรก ๆ ก็ใช้คนในครอบครัวและญาติพี่น้อง แต่มีเพื่อนบ้านมาติดต่อว่าจ้างก็เลยทำเป็นอาชีพเสริมในช่วงวันหยุดและตอนเย็น โดยคิดค่าบริการในการฉีดพ่นไร่ละ 59 บาท ส่วนสารเคมี-ปุ๋ย-ยา-ฮอร์โมนสารชีวภาพ เจ้าของไร่นาต้องจัดหามาเอง การทำงานพื้นที่ 1 ไร่ ใช้โดรนฉีดพ่นใช้เวลาแค่เพียง 2-3 นาทีต่อไร่เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ผลและได้มาตรฐาน

“ทุกครั้งที่ไปรับจ้างฉีดพ่นก็จะนำความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึงให้คำแนะนำกับเกษตรกรในการ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีอีกด้วย ในส่วนของความนิยมในการใช้โดรน ขณะนี้เกษตรกรทั้งชาวพิจิตรและจังหวัดข้างเคียงได้ติดต่อมาขอใช้บริการกันอย่างต่อเนื่อง” นายเมธรวิสร์ กล่าว

ด้าน นางสุดารัตน์ หงษ์สำริด อายุ 45 ปี อาชีพทำนา และทำนา 22 ไร่ อยู่ที่บริเวณหมู่ 3 บ้านวังเทโพ ต.วังจิก เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรรวมถึงค่าจ้างแรงงานที่จะจ้างคนงานเพื่อทำการฉีดพ่นสารเคมี ยา หรือฮอร์โมนบำรุงพืช รวมถึงฉีดสารเคมีที่เป็นยาฆ่าแมลง ฆ่าเชื้อรา นับวันจะมีปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นงานที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหา ตนจึงตัดสินใจใช้บริการว่าจ้างโดรนเพื่อมาทำการฉีดพ่นสารเคมีและยาฆ่าแมลง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นางสุดารัตน์ กล่าวต่อว่า ซึ่งได้ศึกษามาแล้วว่าการใช้โดรนฉีดพ่นยาฆ่าแมลง หรือใช้ฮอร์โมนฉีดพ่นให้กับต้นข้าวเป็นการทำการเกษตรที่ได้ผลในยุคนี้ เนื่องจากการใช้โดรนสามารถควบคุมปริมาณการใช้ปุ๋ยและใช้ยาได้ด้วยระบบที่มีมาตรฐาน ซึ่งถ้าการใช้คนลงไปฉีดพ่นยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีในแปลงนา ซึ่งนอกจากจะหาคนรับจ้างได้ยากแล้วยังต้องเสี่ยงกับสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย

“อีกทั้งถ้าใช้แรงงานคนในการดำเนินการก็จะต้องลงไปเหยียบย่ำต้นข้าว เพราะว่าการปลูกข้าวในหนึ่งฤดูกาลต้องฉีดพ่น ให้ปุ๋ย ให้ยา อย่างน้อย 3-4 ครั้ง แต่เมื่อมาใช้โดรนบินเพื่อฉีดพ่นปุ๋ย ยา ปัญหาข้างต้นก็หมดไป อีกทั้งระบบการทำงานของโดรนก็ควบคุมด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่ที่ได้มาตรฐาน จึงอยากเชิญชวนเพื่อน ๆ เกษตรกรที่มีอาชีพ ทำนา ทำสวน หรือทำไร่ หากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานควรหันมาทดลองใช้โดรนในการให้ปุ๋ย ให้ยา แล้วจะรู้ว่าเทคโนโลยีแบบใหม่ เหมาะสมกับการทำการเกษตรในยุค 4.0” นางสุดารัตน์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน