เปิดตัวหนังสือ ใจแผ่นดิน บันทึกชีวิต-การต่อสู้ ปู่คออี้ และกะเหรี่ยงแก่งกระจาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่สถาบันวิจัยสังคม ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์-ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ จัดงานเปิดตัวหนังสือ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน”

ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงที่เกิดและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ก่อนถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบังคับ ขับไล่ และเผาทำลายบ้าน ยุ้งข้าว เพื่อให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่เดิม

โดยเนื้อหา 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย ความเข้าใจเกี่ยวกับชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ,กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน และชุมชน และ เรื่องราวการต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิของชาวบ้าน

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ใจแผ่นดินเป็นพื้นที่ที่อยู่ไกลสุดของประเทศไทย โดยมีหลักฐานจากกรมแผนที่ทหารยืนยันว่ามีบ้านใจแผ่นดิน ในปี 2455 แต่ชาวบ้านใจแผ่นดินกลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐไทยกระทำอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ด้วยการขับไล่ บุกเผาบ้าน และยุ้งข้าว จนทำให้หมู่บ้านใจแผ่นดินหายไปจากแผนที่ประเทศไทย ในปี 2554 ทำให้ปัจจุบันไม่มีหมู่บ้านใจแผ่นดินอีกแล้ว

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านใจแผ่นดิน ทำให้ชาวบ้านนำโดย ปู่คออี้ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวบ้านลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของเขา ซึ่งในคำพิพากษาศาลปกครองก็ช่วยยืนยันตัวตนการมีอยู่ของ ปู่คออี้ แต่ทว่าจนถึงวันนี้ชาวบ้านก็ยังไม่ได้กลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน ขณะที่ปู่คออี้ ก็เสียชีวิตลงด้วยวัย 107 ปี”

ด้าน ลุงโจซอ วัย 71 ปี ชาวบ้านจากบางกลอย กล่าวว่า เมื่อตอนอยู่ที่ใจแผ่นดิน ตนอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกับปู่คออี้ โดยใช้เวลาเดินทางไปหากันเพียง 10 นาที ซึ่งชีวิตที่เราอยู่บนใจแผ่นดินนั้นสุขสบาย ไม่ต้องคิดมากอะไร แต่ตอนนี้เมื่อถูกบังคับให้ย้ายลงมา ตนต้องไปทอผ้าที่ศูนย์ศิลปาชีพ เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ ทั้งที่ไม่ใช่งานของผู้ชาย แต่เราไม่มีทางเลือก

เราอยู่ที่ใจแผ่นดิน เราทำไร่หมุนเวียนเพื่อเลี้ยงชีพ ปลูกผัก ปลูกพืชกิน ไม่ต้องใช้เงินเลยในแต่ละปี แต่ชีวิตต้องเปลี่ยนไป ต้องดิ้นรนให้ชีวิตอยู่รอดเมื่อถูกขับไล่ลงมา

ขณะที่ ป้าซอแล วัย 61 ปี อีกหนึ่งชาวบ้านที่เดินทางมาจากบางกลอย กล่าวสั้นๆว่า ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็อยากกลับไปที่ใจแผ่นดิน ที่นั่นฉันปลูกพืช-ผักต่างๆไว้เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อกลับไปที่นั่นไม่ได้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปลูกไว้ยังจะมีเหลืออยู่หรือไม่

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ด้าน ดร.นฤมล อรุโณทัย อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของคนเล็กๆที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งปกตินอกจากไม่ค่อยมีบันทึกในลักษณะเช่นนี้แล้ว ยังไม่ค่อยมีความน่าเชื่อถือ แต่หนังสือเล่มนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่า ที่สะท้อนให้เห็นสายใยระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้เห็นถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และยังเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอีกด้วย

ทั้งนี้เหตุการณ์ และเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เกิดขึ้นตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม 2554 เกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ภายใต้การปฏิบัติการ “ยุทธการตะนาวศรี” ใช้กำลังบังคับให้ปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงที่เกิดและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินในผืนป่าแก่งกระจานมาแต่ดั้งเดิม ให้ออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว

โดยเจ้าหน้าที่บางคนได้รื้อ ทำลาย เผาบ้านที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงเกือบร้อยหลัง ทรัพย์สินในบ้าน ยุ้งฉาง อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆภายในบ้าน รวมถึงเมล็ดพันธุ์พืช ได้รับความเสียหาย และถูกบังคับอพยพ โยกย้าย มาอยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง ในปัจจุบัน

ซึ่งกรณีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ทางราชการชดใช้ความเสียหายให้แก่ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนแล้ว

โดยการถูกบังคับโยกย้าย มีผลทำให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวประสบปัญหาด้านการดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน ประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่ขาดที่ดินทำกินและปัจจัยในการดำรงชีวิต บางส่วนพยายามกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่เดิม แต่ต้องเผชิญกับการถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกแผ้วถางอุทยานแห่งชาติ

หลายคนต้องกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดินกำลังจะสูญเสียอัตลักษณ์ ความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม วิถีชีวิต วัฒนธรรมในการดำรงชีวิตของตนที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

ส่วนนายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) ผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนกะเหรี่ยง ถูกบังคับให้สูญหายไป ยังไม่ทราบชะตากรรมจนบัดนี้ กว่า 5 ปีแล้ว

กรณีที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยยังไม่ยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ และสิทธิชุมชน รวมทั้งสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

หนังสือ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” ซึ่งเรียบเรียงมาจากเอกสารและคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมา จะสะท้อนเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่ต้องประสบกับชะตากรรมอันขมขื่น จากการกระทำของอำนาจที่มาจากภายนอกชุมชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน