วราวุธ เตรียมแผน พะยูนแห่งชาติ หวังเพิ่มเป็น 400 ตัว ซัดคนซื้อขายเขี้ยว-น้ำตาพะยูน

วันที่ 18 ก.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.)

นายโสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการทส. ในฐานะโฆษก ทส. และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ข้าราชการสังกัด ทส. ตลอดจนกรมการปกครอง ผู้นำชุมชนเกาะลิบง กลุ่มอาสาสมัครผู้พิทักษ์ดูหยง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น บริเวณอ่าวดูหยง บ้านบาตูปูเต๊ะ เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง

นายวราวุธ กล่าวว่า หลังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรมว.ทส. ได้เดินทางมาที่ จ.ตรัง เป็นที่แรก เพื่อตรวจเยี่ยมการอนุบาลลูกพะยูนน้อย แบบธรรมชาติ และร่วมหารือเกี่ยวกับมาตรการในการดูแลสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกรม ทช. จากการรายงานสถานการณ์ของพะยูนเบื้องต้นทราบว่าปัจจุบันประเทศไทยพบพะยูน 200-250 ตัว โดยพะยูนเป็นสัตว์สงวนตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อีกทั้งยังพบการเกยตื้นของพะยูนส่วนใหญ่มักเกิดจากภัยคุกคามทางด้านการประมง 89% ป่วยตาย 10% และอื่นๆ 1%

โดยในช่วงที่ผ่านมา พบลูกพะยูนขึ้นมาเกยตื้นในพื้นที่ จ.กระบี่ โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้ขนย้ายมาอนุบาลในพื้นที่อ่าวดูหยง เกาะลิบง เพราะว่าในพื้นที่แห่งนี้มีทรัพยากรของหญ้าทะเลหลากหลายสายพันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงมีพะยูนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย พร้อมตั้งชื่อว่า “เจ้ามาเรียม” ซึ่งแปลว่าหญิงสาวผู้มีความสง่างามแห่งท้องทะเล โดยในขณะนี้ ทีมสัตวแพทย์จากกรม ทช. และอาสาสมัครผู้พิทักษ์ดูหยงได้ทำการดูแล เจ้ามาเรียมแบบธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ตลอดจนมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ทั้ง 6 จุด เพื่อถ่ายทอดสดสัญญาณผ่านทางเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของ ทช. ตลอด 24 ชั่วโมง

ซึ่งมองในแง่ดีจะช่วยดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ให้กับเจ้ามาเรียม และอีกมุมหนึ่งทุกคนทั่วโลกจะได้เห็นกิจวัตรประจำวันของทีมงานสัตวแพทย์ โดยเริ่มตั้งแต่การป้อนนม การสอนกินหญ้า การพายเรือแม่ส้มออกไปสอนว่ายน้ำ เพื่อเป็นการเรียนรู้ชีวิตสัตว์ทะเลหายากที่ไม่เคยมีใครเห็นอย่างใกล้ชิดมาก่อน หากเจ้ามาเรียมแข็งแรงและสามารถปรับสภาพได้ดีแล้ว ก็จะปล่อยเจ้ามาเรียมกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติ และในอนาคตข้างหน้านี้ ทช. จะฝังชิพและติดแท็กเพื่อระบุตัวตนของเจ้ามาเรียมอีกด้วย

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า จากนั้นได้รับฟังการสรุปแนวทางในการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่ดูแลเจ้ามาเรียม พร้อมกับร่วมพบปะพูดคุยกับเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล จ.ตรัง จำนวน 200 คน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน อีกทั้งให้โอวาทและให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่แก่เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล พร้อมทั้งฝากให้ทุกคนเป็นหูเป็นตาในการปกป้อง ดูแลและช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ หากพบการเกยตื้นให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้รักษาและดูแลได้ทันท่วงที

“หลังจากนี้ ทส. จะเดินหน้าขับเคลื่อนและให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายากที่พบการเกยตื้นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ใช่เพียงแค่พะยูนเท่านั้น แต่ยังมีสัตว์ทะเลหายากอีกหลายชนิด เช่น ฉลามวาฬ โลมา และเต่าทะเล เป็นต้น ที่ต้องช่วยกันปกป้องและดูแลตามมาตรการที่หารือกันไว้ โดยขอความร่วมมือประชาชน และผู้ประกอบการประมงในพื่นที่ ช่วยกันสอดส่องดูและ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญ ตลอดจนมีความรักและหวงแหนต่อสัตว์ทะเลหายาก

อีกทั้งจะมีมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่อสัตว์ทะเลหายาก ตลอดจนจัดทำพื้นที่คุ้มครองเพื่อให้เป็นแหล่งหากินของพะยูนในพื้นที่ทะเลตรัง รวมถึงขอความร่วมมือไปยังผู้ที่อาศัยอยู่ชายฝั่ง ในการป้องกันและดูแล สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ ไม่ให้ได้รับผลกระทบทั้งจากขยะพลาสติก การทำประมงที่ผิดกฎหมาย และการล่าเอาเขี้ยวของพะยูนมาทำเป็นเครื่องลางของขลังซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดๆ เพื่อให้พะยูนและสัตว์ทะเลหายากอยู่คู่กับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลต่อไป ”นายวราวุธ กล่าว

รมว.ทส. กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะจัดทำแผนพะยูนแห่งชาติ ร่วมมือกับภาควิชาการ ประชาชน และกระทรวงมหาดไทย เร่งสำรวจพะยูนทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน เพื่อเพิ่มพะยูน จาก 200 ตัว เป็น 400 ตัว ซึ่งหน่วยงานราชการยังไม่สามารถดูแลทั่วถึง แต่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งที่มีพะยูนช่วยกันดูแล ซึ่งตั้งแต่มาเรียมมาอยู่ ผู้นำท้องถิ่นบอกว่าชาวบ้านในพื้นที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้นการท่องเที่ยวคึกคัก เรื่องนี้ต้องทำให้สมดุลกันให้ทั้งพะยูนอยู่ได้ และชาวบ้านชาวประมงก็มีความสุข ไม่ใช่ทำให้พะยูนถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามของชาวประมง นอกจากนี้ก็ต้องดูแลสัตว์ทะเลหายากอย่างอื่นด้วย

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้สั่งการให้ทช.ทำการติดแท็ก กับไมโครชิป ให้กับมาเรียม และยามีลเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและระบุตัวตน เป็นการนำร่องเพื่อจะติดพะยูนตัวอื่นๆ โดยเฉพาะในทะเลตรังมี 185 ตัว การติดแท็กกับไมโครชิปไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่ผ่านมาจะใช้วิธีบินสำรวจ และนับจำนวนประชาการ การติดแท็กกับชิปช่วยในการอนุรักษ์พะยูน และเพิ่มประชากรพะยูนให้มากขึ้นที่สำคัญหลังมรสุม ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทช. ย้ายยามีล มาอยู่กับมาเรียมที่นี่

เมื่อถามว่าในพื้นที่มีขบวนการล่าพะยูนหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า คาดว่าไม่มี แต่ที่เราพบว่าซากพะยูน เขี้ยวมักจะหายไป เพราะคนบางกลุ่มที่พบซากพะยูน เห็นว่าไหนๆ ก็ตายแล้วจึงตัดมา ทั้งนี้น้ำตาและเขี้ยวพะยูน ที่เชื่อว่าทำให้คนหลงรักเป็นความเชื่อผิดๆ ต่อให้ใช้น้ำตาพะยูนเป็นร้อยตัวก็ไม่สามารถทำให้คนหลงรักได้ ดังนั้นทั้งคนซื้อและคนขายถือว่าสติปัญญาพอๆกัน ส่วนผู้ที่ครอบครองเขี้ยวพะยูนถือว่ามีความผิดทางกฎหมายด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน