จากกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยเปิดให้ผู้ที่ไม่มีอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สามารถสมัครสอบได้ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสนับสนุนและคัดค้านมติดังกล่าวนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 27 มี.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะหน่วยงานผู้ใช้ครู เห็นว่ามติดังกล่าวมีผลกระทบในเชิงบวกกับ สพฐ.อย่างมาก เนื่องจากสามารถทะลวงทางตัน ซึ่งเป็นปัญหาหลักในการสอบบรรจุครูผู้ช่วยของ สพฐ.มาอย่างยาวนาน

ที่สำคัญคือจะช่วยให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์โดยตรง เนื่องจากหากกลับมาดูสถิติการสอบบรรจุครูผู้ช่วยย้อนหลัง 4 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2557-2559 พบว่ามีถึง 11 วิชาเอก ที่ สพฐ.เปิดสอบบรรจุ แต่ไม่มีผู้สอบแข่งขันขึ้นบัญชีได้เลย ที่สำคัญคือบางสาขาวิชาไม่มีผู้สมัครสอบเลย โดย 11 วิชาประกอบด้วย ภาษาเกาหลี ภาษาเวียดนาม ภาษาพม่า ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาอาหรับ ดนตรี/นาฏศิลป์ ดนตรีสากล (ดุริยางค์) ออกแบบนิเทศศิลป์ วิจัยทางการศึกษา และกายภาพบำบัด

“การสอบครูผู้ช่วยประจำปี 2559 มีผู้สมัครเกือบ 1.3 แสนคน ซึ่งในส่วนวิชาหลักพบว่ามีผู้สอบขึ้นบัญชีได้น้อยมาก โดยเฉพาะวิชาหลัก คือ วิทยาศาสตร์ สมัคร 9,508 คน แต่ผ่านขึ้นบัญชีแค่ 874 คน หรือร้อยละ 9.19 วิทยาศาสตร์ทั่วไป สมัคร 4,302 คน ผ่าน 238 คน หรือร้อยละ 5.53 ฟิสิกส์ สมัคร 1,879 คน ผ่าน 268 คน หรือร้อยละ 14.26 เคมี สมัคร 1,920 คน ผ่าน 305 คน หรือร้อยละ 15.89 ชีววิทยา สมัคร 2,469 คน ผ่าน 461 คน หรือร้อยละ 18.67 คณิตศาสตร์ สมัคร 10,924 คน ผ่าน 1,710 คน หรือร้อยละ 15.65 ภาษาไทย สมัคร 9,942 คน ผ่าน 1,190 คน หรือร้อยละ 11.97 ภาษาอังกฤษ สมัคร 12,961 คน ผ่าน 1,504 คน หรือร้อยละ 11.69 และสังคมศึกษา สมัคร 14,375 คน ผ่าน 892 คน หรือร้อยละ 6.21 นี้เป็นเพียงตัวเลขเฉพาะปี 59 ซึ่งเห็นได้ว่ามีผู้สอบได้น้อย และหากมองย้อนหลังกลับไปจะเข้าใจได้ทันทีว่าทำไมคะแนนโอเน็ตของเด็กจึงต่ำลง ผลก็มาจากการขาดแคลนครูในวิชาเหล่านี้นั้นเอง” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

นายการุณ กล่าวอีกว่า มตินี้จะเปิดให้ สพฐ.สามารถคัดเลือกผู้ที่ไม่มีอนุญาตฯ แต่มีความรู้ความสามารถตรงตามสาขาที่ยังขาดครูมาเป็นครูได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กเสียโอกาสในการได้ครูมาสอน เพราะติดล็อคในข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตฯ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ผลิตครูออกมาไม่ดี ที่สำคัญคือผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตฯ แต่สามารถสอบบรรจุครูผู้ช่วยได้ ภายในระยะเวลา 2 ปี จะต้องผ่านการฝึกอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูของคุรุสภา 9 มาตรฐาน รวมทั้งอบรมเทคนิคการสอน การจัดทำแผนการสอน โดยมีครูพี่เลี้ยงคอยประกบให้คำแนะนำด้วย

ทั้งนี้จากการบรรจุนักศึกษาในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมีผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตฯ ได้รับการบรรจุไป 381 คน ผ่านมาประมาณ 4 เดือน พบว่าโรงเรียนและเด็กมีความพึงพอใจครูเหล่านี้ เพราะเก่ง และสอนเข้าใจ

วันเดียวกัน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีความจำเป็นให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตฯ มาสอนในสายวิชาชีพ เนื่องจากขาดแคลนอัตรากำลังสายวิชาชีพที่เป็นสาขาเฉพาะทางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มวิชาใหม่ที่เปิดรองรับการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสถาบันผลิตครูไม่ได้เปิดหลักสูตรครู 5 ปีในกลุ่มนี้ คือ กลุ่มสาขาวิชายานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

อีกทั้งในการสอบครูผู้ช่วยของ สอศ.ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มสาขาวิชาช่างต่อเรือ ช่างอากาศยาน เทคโนโลยีปิโตรเลียม ธุรกิจสถานพยาบาล อุตสาหกรรมเครื่องหนัง และช่างเทคนิคซ่อมระบบราง ไม่มีผู้มาสมัครหรือผู้สอบแข่งขันได้ จึงจำเป็นต้องเปิดรับให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตฯ แต่มีความรู้ ประสบการณ์เข้ามาสอนแทน

“ขณะนี้วิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐมีครูผู้สอน 33,000 คน ใน 394 สาขาวิชา ถือว่ายังขาดแคลนครูอยู่โดยเฉพาะสาขาวิชาเฉพาะทาง ที่ผ่านมาเราต้องจ้างผู้ที่ไม่ได้จบครูแต่มีความรู้เฉพาะทางมาสอนเด็ก เช่น วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น ส่วนโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่ผ่านมานั้น เราได้รับจัดสรร 106 คน ในจำนวนนี้มีใบอนุญาตฯ 70 คน อีก36 คนไม่มีใบอนุญาตฯ ซึ่งจากการติดตามผลพบว่าครูส่วนใหญ่ที่มีใบอนุญาตฯ ยังขาดทักษะเฉพาะทางในการสอนสายอาชีพ และต้องแก้ปัญหาด้วยการให้ครูที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้” เลขาธิการ กอศ.กล่าว

วันเดียวกัน ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวถึงกรณีกลุ่มครู นักวิชาการ และคณาจารย์จากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ ร่วมกันล่ารายชื่อจำนวน 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาปลด นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ พ้นจากตำแหน่ง รมว.ศธ. ว่า คุรุสภาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว

คุรุสภาในฐานะสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา มีหลักการทำงานที่เป็นไปตามภารกิจกำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพ และการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ตามที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภามีหน้าที่ดำเนินการตามมติกรรมการคุรุสภาที่มอบหมายภายใต้กฎหมายดังกล่าว

เวลา 15.00 น. น.ส.สุดธิดา จันทร์เหม กล่าวภายหลังเป็นตัวแทนเครือข่าย นิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) ยื่นหนังสือถึง รมว.ศธ.ขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์ฯ โดยมีผู้แทน ศธ.เป็นผู้รับเรื่อง ว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อการศึกษาไทย 5 ข้อใหญ่ ได้แก่ 1.มีผลกระทบต่อผู้เรียน ครูทุกคนต้องมีความรู้ในด้านวิชาการ และความรู้ด้านจิตวิทยาการศึกษา วิธีการสอน และการวัดผล ตลอดจนจริยธรรมครู เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิผลต่อนักเรียนทุกคน

ตัวแทนนักศึกษา กล่าวต่อว่า 2.มีผลกระทบต่อโรงเรียน เพราะนอกจากงานสอนแล้วครูยังต้องมีหน้าที่ส่งเสริมการจักการศึกษษให้มีประสิทธิผล ทั้งงานวิชาการ และงานกิจการนักเรียน 3.มีผลกระทบต่อนิสิต นักศึกษาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพราะเป็นการลดโอกาสทางวิชาชีพของนิสิต-นักศึกษาที่จบสาขาครูมาโดยตรง 4.มีผลกระทบต่อคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพราะในระยะยาวอาจทำให้ผู้เรียนในคณะดังกล่าวน้อยจนต้องปิดตัวลง และ 5.มีผลกระทบต่อประเทศชาติ เพราะหากครูที่สอนเป็นไม่ได้จบครู จะทำให้การศึกษานั้นไม่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งผลเสียแก่ประเทศไทยในภายภาคหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน