เขื่อนไซยะบุรี ยันไม่ได้กักเก็บน้ำจนเป็นสาเหตุให้น้ำโขงแห้ง ชี้น้ำแล้งเพราะผลพวงเอลนีโญ ประกอบกับเขื่อนจิ่งหงของจีน ไม่ยอมปล่อยน้ำ

เขื่อนไซยะบุรี / เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ผู้บริหารงานในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อย่างใกล้ชิด และอธิบายข้อมูลและข้อเท็จจริงของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีทุกขั้นตอน พร้อมทั้งเดินสำรวจเส้นทางประตูระบายน้ำล้นและประตูระบายตะกอนรวม 11 บาน ทางผ่านปลา ทางเรือผ่านห้อง Control Room เพื่อเห็นเส้นทางของมวลน้ำที่ผ่านเข้าสู่การปั่นไฟ

รวมทั้งเห็นการควบคุมการปล่อยน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้นเพื่อรักษาระดับน้ำอยู่ในระดับที่เป็นไปตามข้อกำหนดของ MRC รวมไปถึง Dam Safety ซึ่งหมายถึงความแข็งแรงของโครงสร้างโรงไฟฟ้าในภาวะการณ์ต่างๆ เช่น ค่าแผ่นดินไหว ค่าฝนหมื่นปี เป็นต้นโดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาธุรกิจพลังงาน สปป.ลาว เข้าร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย

นายอานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มีความคืบหน้าในการก่อสร้างกว่า 99.4% โดยเริ่มเดินเครื่องผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ผลิตไฟฟ้าได้แล้วกว่า 500 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ 100% ได้เต็มกำลังในช่วงเดือนปลายตุลาคม 2562 นี้

ทั้งนี้ ขอย้ำว่าหลักการดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเป็นไปตามข้อกำหนด MRC Guidline ทุกประการ ในรูปแบบวิศวกรรมที่เรียกว่า Run of River หรือฝายทดน้ำขนาดใหญ่ ได้ยกระดับน้ำเหนือเขื่อนให้ได้ระดับ 275 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ตลอดฤดูฝนคือตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2561 จากนั้นไม่มีการกักเก็บน้ำในตอนบนของฝายขนาดใหญ่อีกเลย โดยใช้ระบบมวลน้ำที่เข้ามาในเขื่อนไหลออกไปด้วยมวลน้ำเท่าเดิม หรือ In Flow = Out Flow ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

“กระบวนการออกแบบเป็นไปตามข้อกำหนดของ MRC Guideline ทุกประการ โดยในทุกๆขั้นตอนของการ ออกแบบและการก่อสร้างนั้น ทาง MRC ได้นำเสนอแบบก่อสร้างและแผนการดูแลสิ่งแวดล้อมส่งไปยังกระทรวง ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของทั้ง 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ไทย สปป.ลาว เวียดนามและกัมพูชา โดยในทุกขั้นตอน แบบก่อสร้างและแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมนั้น ทางรัฐบาลลาวได้มี Third Party Consuting Firm หลากหลายสาขาจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกที่มีความเป็นกลางในการตรวจสอบ เข้ามาร่วมตรวจ สอบและดูแลมาตรฐานการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางปลาผ่าน ประตูระบายตะกอน และแบบโครงสร้าง พื้นฐาน รวมไปถึง Dam Safety ซึ่งหมายถึงความแข็งแรงของโครงสร้างโรงไฟฟ้าในภาวะการณ์ต่างๆ เช่น ค่า แผ่นดินไหว ค่าฝนหมื่นปี ทาง CKPower พัฒนาแบบก่อสร้างด้วยมาตรฐานสูงสุดโดยมีบริษัท ช.การช่าง (ลาว) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง”

นายอานุภาพ กล่าวต่อว่า ด้วยสถานการณ์ภัยแล้งทำให้ในรอบสัปดาห์นี้ มีแรงน้ำไหลเข้าระบบเพียง 1,750 ลบ.ม./วินาที จากปกติจะต้องมีแรงน้ำไหลเข้าระบบในอัตรา 4,000 ลบ.ม./วินาที โรงไฟฟ้าพลังน้ำจึงสามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 3 เครื่อง จากกำลังผลิตทั้งหมด 8 เครื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาถึงปริมาณน้ำอันเป็นสาเหตุของภัยแล้งของปีนี้ ไซยะบุรีย้อนกลับสถิติน้ำฝนและปริมาณน้ำตลอดลำน้ำโขง ปีนี้ปริมาณน้อยที่สุดในรอบ 100 ปี และโครงการฯ ไซยะบุรีก็ได้ผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย ไม่เฉพาะลุ่มน้ำโขง

ด้าน นายพอนไช พงสะหวัด หัวหน้าแผนกพัฒนาโครงการ แผนกพลังงาน สปป.ลาว กล่าวถึงกรณีที่หน่วยงานไทยเรียกร้องให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ส่งหนังสือด่วนถึง สปป.ลาว เพื่อขอให้ชะลอทดสอบระบบไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีนั้น ทางสปป.ลาวไม่ได้นิ่งนอนใจ และอยู่ในกระบวนการศึกษาและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในลุ่มลำน้ำโขงอย่างใกล้ชิด

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

โดยต้องใช้ข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ อัตราการไหลเข้า ไหลออกของน้ำในไซยะบุรี รวบรวมและรายงานให้กับกระทรวงพลังงานของสปป.ลาว หากได้ข้อมูลที่ชัดเจน หลังจากนี้จะเป็นการประสานงานของรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน