ลุยบ่อกุ้งกาฬสินธุ์ จับ‘ก้ามกราม’ขายทั่วอีสาน

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ลุยบ่อกุ้ง – เป็นที่ทราบกันดีว่ากาฬสินธุ์ เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และส่งไปขายในจังหวัดต่างๆ รวมถึงที่ประเทศลาวด้วย ซึ่งเกษตรกรจำนวนไม่น้อยเลิกอาชีพทำนาทำไร่หันมาเลี้ยงกุ้งแทน เพราะไม่เหนื่อยและมีรายได้เยอะกว่า หลายคนเป็นเศรษฐีเลยทีเดียว

ลุยบ่อกุ้ง

วีรชาติ ภูโปร่ง

นายวีรชาติ ภูโปร่ง เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามบัวบาน1 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนชาวบ้านในพื้นที่ทำนากัน พอปี 2532 มีคนเริ่มนำกุ้งมาเลี้ยง เพราะทำนาแล้วขายข้าวไม่ได้ราคา เลี้ยงแค่ 5 เดือนก็จับกุ้งขาย เห็นได้ชัดว่าได้เงินเร็วกว่าทำนา และขายได้ราคาดีด้วย พอคนอื่นๆ เห็นก็พากันมาเลี้ยงบ้าง เนื่องจากมีรายได้ดีกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น จากเดิมเลี้ยงกันแค่รายสองราย แต่พอปี 2550 จำนวนเกษตรกรเลี้ยงกุ้งเพิ่มนับพันราย

ลุยบ่อกุ้ง

ทั้งนี้ในกาฬสินธุ์มีการเลี้ยงกุ้งอยู่ใน 3 อำเภอ 5 ตำบล คือ 1.อ.ยางตลาด ในเขตต.บัวบาน ต.นาเชือก และ ต.เขาพระนอน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม 946 ราย รวมพื้นที่เลี้ยง 4,530 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่ 6,966.60 ไร่ 2.อ.เมือง ในเขตต.ลำคลอง มีเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง 95 ราย รวมพื้นที่เลี้ยง 509 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่ 672.75 ไร่ 3.อ.ห้วยเม็ก ในเขตต.หัวหิน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม 106 ราย รวมพื้นที่เลี้ยง 455 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่ 686.50 ไร่ โดยใช้น้ำจากเขื่อนลำปาว

“ผมเองเลี้ยงกุ้งต่อจากพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยพ่อเริ่มเลี้ยงตั้งแต่ปี 2530 ผมก็ช่วยเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นอาชีพที่ช่วยกันทำในครอบครัว ทำให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเลี้ยงในเนื้อที่ 12 ไร่ มี 7 บ่อ แบ่งเป็นบ่อละ 3 ไร่และ 2 ไร่ และในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ที่กุ้งจะขายดีมาก จึงต้องเตรียมการเลี้ยงตั้งแต่เดือนพ.ค.-มิ.ย.”

นายวีรชาติแจงว่า ที่ผ่านมาเลี้ยงกุ้งแบบต่างคนต่างเลี้ยง ทำให้ราคาไม่ไปในทิศทางเดียวกัน จนเกิดปัญหาด้านราคา เมื่อก่อน กุ้ง ก.ก.ละ 130-160 บาทเท่านั้น อีกทั้งต้นทุนการผลิตสูง เลยมีแนวคิดว่าควรมารวมกลุ่มกันดีกว่าเพื่อกำหนดราคาให้ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ จนมาปี 2550 ได้ไปจดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามบัวบาน 1” ตอนนี้มีสมาชิก 67 ราย และมีการระดมหุ้น หุ้นละ 100 บาท โดยให้แต่ละคนถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท (50 หุ้น) ทำให้สามารถซื้อปัจจัยการผลิตได้ในราคาถูก เพราะกลุ่มซื้อในปริมาณมาก และเมื่อสิ้นปีจะมีการปันผล

ลุยบ่อกุ้ง

เลขานุการกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามให้ข้อมูลการเลี้ยงกุ้งว่า ในเรื่องการเตรียมบ่อ ถ้าเป็นบ่อใหม่ก็ขุดบ่อให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ หากเป็นบ่อเก่าจะล้างบ่อแล้วตากบ่อให้แห้งสนิทแล้วเกรดหน้าดินไปไว้ที่คันบ่อ ต่อมาโรยปูนขาวฆ่าเชื้ออัตราการใช้ประมาณ 50 ก.ก./ไร่ เสร็จแล้วเปิดน้ำเข้าบ่อ โดยใช้ตาข่ายเขียวกรอง ความลึกไม่เกิน 1.5 เมตร พักน้ำไว้ 3-4 วัน ให้ค่า pH อยู่ที่ 7.5-8

ส่วนการนำลูกกุ้งมาปล่อยเฉลี่ย 1 แสนตัว/ไร่ ให้อาหารกุ้งชนิดฝุ่นในช่วงระยะ 20 วัน หลังจากนั้นเปลี่ยนมาเป็นอาหารเกล็ด ประมาณ 1-2 เดือน จากนั้นใช้อวนที่มีความถี่ของตาประมาณ 1.5 ซ.ม.ลาก เพื่อนำกุ้งที่มีขนาดโตแล้วไปเลี้ยงต่อในบ่อขุน อัตราการเลี้ยงที่ 5,000 ตัว/ไร่

และเปลี่ยนเป็นให้อาหารเม็ดประมาณ 3 ก.ก./มื้อ ใน 1 วัน ให้เช้า-เย็น ใช้เวลาเลี้ยง 5 เดือน ก็สามารถจับขายได้

พูดถึงปัญหาในการเลี้ยงกุ้ง นายวีรชาติระบุว่า เป็นเรื่องการตายจม สาเหตุจากการเลี้ยงที่หนาแน่น การจัดการพื้นบ่อไม่ค่อยดี เจ้าหน้าที่ประมงจ.กาฬสินธุ์ได้แนะนำวิธีการแก้ โดยลดปริมาณการเลี้ยงจากที่ปล่อยกุ้งลงบ่อเลี้ยงปริมาณ 3 หมื่นตัว/ไร่ ลดลงมาเหลือ 5,000-6,000 ตัว/ไร่ และมีได้ผลผลิตประมาณ 300-400 กก./ไร่ ทำให้อัตราการรอดมากกว่า อีกทั้งกุ้งตัวโตกว่าเดิมมาก

นอกจากนี้ยังให้ใช้จุลินทรีย์ ปม.1 เพื่อช่วยบำบัดน้ำ ช่วยให้กุ้งไม่เป็นโรค และปรับสภาพพื้นบ่อ ทั้งยังแนะนำว่าถ้าบริหารจัดการดินดี น้ำดี กินอาหารปกติ กุ้งก็จะไม่เป็นโรค พร้อมกันนี้ได้ใช้ใบพัดตีน้ำจำนวน 6 ตัว/ไร่ เปิดตีน้ำประมาณ 03.00 – 06.00 น.

หลายปีก่อนเกิดปัญหาไฟดับบ่อยเพราะเปิดใช้ใบพัดตีน้ำกับเกือบทุกบ่อ แต่พอมีการรวมกลุ่มจึงทำเรื่องขอไปทางการไฟฟ้าฯ ขอเพิ่มหม้อแปลงไฟ หลังจากนั้นก็ไม่เกิดปัญหาไฟดับอีกเลย

คิดแล้วมีต้นทุนในการเพาะเลี้ยงเฉลี่ย 170บาท/1 กก. ส่วนการรับซื้อ ราคากุ้งปากบ่ออยู่ที่ 250 บาท ไซซ์ 25 ตัว/ก.ก. ตลาดใหญ่อยู่โซนภาคอีสานและบางส่วนส่งไปประเทศลาว โดยร้านอาหารจะใช้กุ้งจากจ.กาฬสินธุ์เป็นหลัก อีกส่วนจะส่งขายให้ห้างแม็คโคร

ลุยบ่อกุ้ง

นายวีรชาติกล่าวว่า เวลาจับจะลากอวนคัดแต่ไซส์ใหญ่ ประมาณ 25-30 ตัว/กก. หลังจากนั้น 20 วันก็ลากอวนอีกครั้ง ปกติกุ้งจะขายดีในช่วงเทศกาล อย่างเช่น ปีใหม่ สงกรานต์ หรือเข้าพรรษา บางครั้งจับไม่พอจำหน่าย จากปกติขายได้วันละ 400-500 ก.ก. แต่มาช่วงหลังนี้เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้กุ้งขายได้ไม่เยอะ บางวันขายได้แค่ 100 ก.ก.เท่านั้น

“จุดเด่นของกุ้งกาฬสินธุ์ เนื้อจะแน่นและมีรสชาติหวาน เป็นกุ้งที่เเลี้ยงแบบธรรมชาติ ใช้อาหารเม็ด ไม่ได้ให้กินสารเคมีเพื่อเร่งให้เจริญเติบโต”

สำหรับการรวมเป็นแปลงใหญ่ตามนโยบายของ กระทรวงเกษตรฯ นั้น นายวีรชาติให้รายละเอียดว่า ในปี 2561 สมาชิกกลุ่มได้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบแปลงใหญ่ 50 ราย รวม 370 ไร่ ในจำนวน 200 บ่อ ซึ่งมีบางส่วนยังไม่ขึ้นทะเบียนเป็นแปลงใหญ่ก็มี

ทั้งนี้ทางประมง จ.กาฬสินธุ์ได้เข้ามาให้ความรู้เทคนิคและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเพาะเลี้ยงกุ้ง อย่างเช่นมีการแนะนำให้ใช้จุลินทรีย์ปรับสภาพน้ำ การจัดการฟาร์มให้ถูกสุขลักษณะ จัดการรั้วรอบขอบชิด สายพันธุ์มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีใบรับรองฟาร์ม สมาชิกจะจับผลผลิตทุกวันโดยหมุนเวียนกันไป เพราะบางรายก็มีตลาดส่งขายเอง แต่ถ้ารายไหนไม่มีตลาดจะมารวมที่กลุ่มเพื่อให้กลุ่มเป็นศูนย์กลางจัดการให้

“จริงๆ เกษตรกรทำกิจกรรมร่วมกันมาอยู่แล้ว แต่ความแตกต่างจากเดิม คือได้ความรู้ด้านวิชาการ ทางหน่วยงานราชการส่งเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้ แนวทางปฏิบัติในการเลี้ยง และการแก้ปัญหาต่างๆ หลังจากได้เรียนรู้แนวคิดการพัฒนาก็มีการเปลี่ยนไป เกิดการเชื่อมโยงด้านการตลาด พัฒนาด้านการแปรรูป ระยะหลังก็มีห้างค้าปลีกรายใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมก็ได้อาศัยชื่อแปลงใหญ่ไปดำเนินด้านการซื้อขาย เมื่อคู่ค้าเห็นว่าทำในนามกลุ่มแปลงใหญ่เขาก็ยอมรับมากขึ้น ไม่ต้องผ่านนายหน้า โดยจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์แปลงใหญ่ และทุกแปลงที่เข้าร่วมแปลงใหญ่ก็ได้รับเครื่องหมาย GAP รวมทั้งได้เครื่องหมายคุณภาพ GS ของจ.กาฬสินธุ์ด้วย”

ลุยบ่อกุ้ง

คางกุ้งทอดกรอบและน้ำพริกกุ้ง

วันนี้นอกจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามบัวบาน 1 จะจำหน่ายกุ้งสดแล้ว ทางประมงจ.กาฬสินธุ์ยังได้ส่งเสริมให้แปรรูป ทำเป็นน้ำพริกกุ้งและคางกุ้งทอดกรอบด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า

นายวีรชาติให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการจะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามว่า ก่อนอื่นต้องดูว่าสถานที่เลี้ยงมีน้ำหรือไม่ เนื่องจากต้องใช้น้ำจำนวนมาก หากต้องการมาศึกษาดูงานของกลุ่ม ติดต่อได้ที่08-1789-0085

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน