รถแห่บุกร้องเรียน หลังถูกห้ามรับงานอีก เหตุเสียงดัง ทำวัยรุ่นตีกัน

วันที่ 18 พ.ย. ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ ถ.ศรีจันทร์ ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในเขตเทศบาลนครขอนแก่น นายอดุลย์ เวียงดินดำ อายุ 52 ปี ผู้ประกอบการรถแห่ จ.ขอนแก่น นำคณะเจ้าของรถแห่ร่วม 20 คัน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส. ขอนแก่น เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ เพื่อขอให้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนกรณีที่มีคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมที่มีรถแห่ทุกชนิด

นายอดุลย์ กล่าวว่า ธุรกิจรถแห่เป็นธุรกิจที่ลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก ทั้งเครื่องเสียง เวที ทีมงาน การตกแต่ง เฉลี่ยอยู่ที่คันละ 2-5 ล้านบาท เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ครอบครัว วัยรุ่นที่เคยติดยาเสพติด ที่เคยเป็นเด็กอันธพาลต่างมีงานทำ กลับตัวเป็นคนดี ชาวบ้านก็นำสินค้ามาขายให้ผู้ที่มาชมการแสดงของรถแห่ มีรายได้มาช่วยเหลือครอบครัว แต่ถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายจังหวัดออกคำสั่งห้ามรถแห่ร่วมกิจกรรม จึงอยากให้มีการแก้ไข และยกเลิกคำสั่งดังกล่าว เพราะจะทำให้ไม่มีรายได้ ชาวบ้านที่ทำงานกับรถแห่ นั้นตกงานทั้งหมด

นายอดุลย์ กล่าวต่อว่า รถแห่ทั่วประเทศประมาณ 400 คัน ขณะนี้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะเจ้าภาพหลายราย ที่จ้างรถแห่ไปให้ความบันเทิงในงาน ถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องห้ามให้มีรถแห่ไปร่วมกิจกรรมในงาน เพราะเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาทและส่งเสียงดัง เจ้าภาพจำเป็นต้องยกเลิกงาน ยกเลิกการจ้างรถแห่ เพราะเกรงว่าจะทำผิดกฎหมาย

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

“จึงรวมตัวกันเดินทางมาเรียกร้องกับ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ที่ขอนแก่น เพื่อรับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นเสียงสะท้อนของคนที่ทำรถแห่ ซึ่งเป็นอาชีพสุจริต ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ผลักดันให้มีกฎระเบียบหรือกฎหมายรองรับ อีกทั้งรถแห่ต้องกาจดทะเบียนรถแห่ให้ถูกต้องและพร้อมที่จะเสียภาษีให้กับรัฐ และประสานกับทางจังหวัดขอนแก่นหรือจังหวัดอื่นๆให้ยกเลิกคำสั่ง ที่ห้ามรถแห่ร่วมกิจกรรม เพื่อจะได้มีงานทำ มีรายได้จุนเจือครอบครัว” นายอดุลย์ กล่าว

นายอดุลย์ กล่าวต่อว่า ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีมาตรการ ห้ามเจ้าภาพใช้รถแห่จัดกิจกรรมร่วมงานบุญงานบวชงานประเพณีต่าง โดยอ้างถึงเหตุทะเลาะวิวาท วัยรุ่นตีกัน จนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการรถแห่หลายร้อยคันที่ใช้เงินลงทุนเป็นหลักหลายล้านเดือดร้อน เพราะผู้ประกอบการบางรายไว้กู้หนี้ยืมสินมาลงทุนทำรถแห่ จึงถือเป็นความเดือดร้อน และการห้ามกิจกรรมรถแห่นอกจากจะมีผลกระทบต่อรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ศิลปิน นักรอง นักแสดง นักดนตรี และพนักงานอื่นๆ

ทั้งนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการขายรถยนต์ ผู้ผลิตเครื่องเสียง ตู้ลำโพง และลูกจ้างในกิจการได้ความเดือดร้อนด้วยเช่นกัน พ่อค้าแม่ค้าในชุมชนขาดรายได้ ดังนั้นทางชมรมรถแห่ และ เจ้าภาพผู้จัดงานจึงอยากให้ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ทบทวนยกเลิกคำสั่งนี้ โดยคำนึงถึงผลกระทบความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ เจ้าภาพผู้จัดงาน และประชาชนผู้ประกอบอาชีพที่สุจริต

ขณะที่ นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส. ขอนแก่น เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า กรณีที่มีคำสั่งห้ามรถแห่ร่วมกิจกรรม หรือห้ามจัดกิจกรรมที่มีรถแห่ ตามที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการดังกล่าวนี้ จะนำไปพิจารณาหาทางแก้ไข เพระบางเรื่องเป็นเรื่องที่กฎหมายยังมีช่องโหว่อยู่ แต่เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้อย่างไม่มีปัญหา จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในสภาเพื่อผลักดันเป็นข้อหมาย ออกมาควบคุมดูแลรถแห่ผู้ประกอบการรถแห่ เช่น เสียงของรถแห่จะต้องดังกี่เดซิเบล และต้องเสียภาษีในประเภทใด เพราะถ้าทุกอย่างมีกฏระเบียบที่ชัดเจนก็จะลดปัญหาความเดือดร้อนได้ในภาพรวม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน