3 อุทยานแห่งชาติแห่งกลุ่มป่าตะวันออก ป้อมปราการสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่า พร้อมผลักดันให้ช้างป่ากลับเข้าสู่ใจกลางป่าตะวันออก เผยอุทยานฯ เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และฟื้นฟูพื้นที่ และการจัดการเรื่องการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

 

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กลุ่มป่าตะวันออกที่อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานฯ มีเนื้อที่ 1,889,995 ไร่ ครอบคลุม 6 จังหวัด คือ จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และตราด พื้นที่ดังกล่าวล้วนเป็นแหล่งอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกร และประชาชนในท้องที่

 

โดยอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในกลุ่มป่าตะวันออก มีความโดดเด่นที่หลากหลายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ จึงมีการบริหารจัดการที่แตกต่างกันไป แต่ทุกพื้นที่ได้เน้นการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการแก้ไข พัฒนา และนำไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

 

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

 

อุทยานฯน้ำตกคลองแก้ว จ.ตราด มีการจัดการช้างป่าอย่างเป็นระบบ มีชุดเฝ้าระวังช้างป่าร่วมผนึกกำลังดูแลตรวจสอบตามพื้นที่เสี่ยง และให้ความรู้ชาวบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่าทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน และป้องกันไม่ให้ชาวบ้านทำร้ายช้างป่าด้วยเช่นกัน หากเกิดความเสียหายเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบความเสียหายในช่วงเช้าของวัดถัดมา เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และเจ้าของพื้นที่

 

สำหรับสถิติจำนวนช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ ตั้งแต่เดือนต.ค. 61 – ก.ย. 62 รวมทั้งสิ้น 84 ครั้ง มีพืชผลทางการเกษตรเสียหาย 8 ครั้ง ไม่มีทรัพย์สินเสียหาย และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด เนื่องจากทางอุทยานฯ น้ำตกคลองแก้ว มีการบริหารจัดการเรื่องช้างป่าเป็นอย่างดี

 

อุทยานฯ น้ำตกพลิ้ว จ.จันทบุรี มีความโดดเด่นในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งการกู้ภัย ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับคืนสภาพเดิม โดยก่อนเกิดเหตุต้องวิเคราะห์ จัดการกับปัจจัยที่เป็นสาเหตุเพื่อลดความรุนแรงของภัยพิบัติ เตรียมความพร้อมจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีองค์ความรู้ ขีดความสามารถ และทักษะต่างๆ ในการรับมือภัยพิบัติขณะเกิดเหตุ เมื่อหลังเกิดเหตุจะมีการฟื้นฟูทั้งระบบสาธารณูปโภค การดำรงชีวิต และความเป็นอยู่ของชุมชนที่ประสบภัยให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

หน่วยกู้ภัยเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ที่อุทยานฯน้ำตกพริ้ว จ.จันทบุรี

อุทยานฯเขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี มีประเพณีมนัสการรอยพระพุทธบาทพลวง ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปีทำให้มีผู้แสวงบุญและประชาชนจำนวนมาก อุทยานฯแห่งนี้ได้เตรียมรับมือการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ

 

อาทิ กำหนดนำดอกดาวเรืองขึ้นสักการะเฉพาะลานพระสิวลี ห้ามขายของบนเขาพระบาท ห้ามพักแรม เรื่องความสะอาด โครงการขยะคืนถิ่น ความปลอดภัยในการสัญจรขึ้น-ลง ซึ่งรถบริการทุกคันต้องได้รับอนุญาตจากอุทยานฯ มีการตรวจสภาพรถ ทำประกันภัยรถยนต์ และพนักงานขับรถต้องตรวจปัสสาวะ หาสารเสพติดทั้งก่อนและระหว่างงานประเพณีฯ

 

“หากมองในเชิงยุทธศาสตร์ทางด้านที่ตั้งอุทยานแห่งชาติทั้ง 3 แห่ง ยังเป็นปราการสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่า ไม่ให้กระจายเป็นวงกว้างออกไป แต่หากจะช่วยผลักดันให้ช้างป่ากลับเข้าสู่ใจกลางป่าตะวันออกได้ และที่สำคัญคือจะเป็นพื้นที่รองรับการพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของกลุ่มผู้ลงทุนที่จะเข้ามาตามโครงการอีอีซีอีกด้วย” ดร.ทรงธรรม กล่าว

อ่านข่าว กรมอุทยานฯมุ่งพัฒนา155อุทยานทั่วประเทศสู่ระดับสากล ผนึกกำลังปกป้องผืนป่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน