“กรมบังคับคดี” แถลงผลไตรมาสที่ 2 ปี’60 ขายทรัพย์สินกว่า 3.2 หมื่นล้าน ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เจ้าหนี้-ลูกหนี้กว่า 6,000 ราย ระบุ เป็นดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ เตรียม พัฒนาเทคโนโลยีติดตามทรัพย์

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 เม.ย. ที่ศูนย์บังคับคดีล้มละลายส่วนหน้า กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี พร้อมด้วยนางศศิวิมล ธนศาสนติ และนางรัตนาวดี สมบูรณ์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี แถลงแถลงผลงานไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2560 ตั้งแต่ดือน ม.ค.-มี.ค. 2560 ว่า กรมบังคับคดีสามารถผลักดันทรัพย์ออกจากระบบกว่า 32,000 ล้านบาท

โดยเฉพาะในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สามารถขายทรัพย์ได้ถึง 12,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดขายทอดตลาดรวม 2 ไตรมาสเป็นวงเงินกว่า 62,000 ล้านบาท โดยกรมบังคับคดีได้กำหนดเป้าหมายการขายทอดตลาดทรัพย์ตลอดทั้งปีงบประมาณไว้ที่ 100,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ถือว่าขายไปแล้วกว่าร้อยละ 60 ทั้งนี้ ยอดการขายทอดตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลจากการขายทอดตลาดทรัพยย์สินนอกสถานที่ และการขายในวันหยุด ซึ่งทำให้เราได้ผู้ซื้อกลุ่มใหม่ โดยหลังจากนี้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 จะสั่งการให้สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศเปิดขายทอดตลาดในวันเสาร์ และมีแนวคิดให้เอกชนเข้าร่วมจัดการขายทอดตลาดทรัพย์บังคับคดี ซึ่งอาจเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งต้องหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป

น.ส.รื่นวดี กล่าวต่อว่า กรมบังคับคดียังได้จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี มีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ย 6,769 เรื่อง ทุนทรัพย์กว่า 2,100 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 6,109 เรื่อง ทุนทรัพย์กว่า 1,787 ล้านบาท รวมถึงการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งสามารถไกล่เกลี่ยหนี้กับผู้ค้ำประกันและพ่อแม่ของผู้กู้ยืมได้เงินส่งคืนกยศ. 250 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยืนยันว่า ในขั้นตอนการไกล่เกลี่ยไม่ใช่การล้างหนี้ ลูกหนี้ยังต้องชดใช้หนี้ให้ครบตามจำนวน เพียงแต่เป็นการกำหนดให้ใช้หนี้ภายใต้ขีดความสามารถในการชำระของลูกหนี้ โดยล่าสุดกรมบังคับคดีได้ประสานความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินและกลุ่มผู้ปล่อยสินเชื่อให้เข้าร่วมในการไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีเพื่อเข้าถึงลูกหนี้ครัวเรือน ลูกหนี้บัตรเครดิต เช่าซื้อรถยนต์ บ้าน และกลุ่มธุรกิจ SMEs

“การผลักดันทรัพย์ของกรมบังคับคดีเป็นดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศว่า อสังหาริมทรัพย์ยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดในกลุ่มระเบียงเศรษฐกิจ หรืออีอีซี เช่น จ.ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ซึ่งมีการเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก” อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าว

น.ส.รื่นวดี กล่าวอีกว่า สำหรับการยึดทรัพย์ค่าปรับในคดียาเสพติดรวม 2 ไตรมาส มี 1,633 คดี ทุนทรัพย์ 694 ล้านบาท ราคาประเมินทรัพย์ 56 ล้านบาท สามารถบังคับคดี ส่งเงินให้ศาลกว่า 10 ล้านบาท และยังมีคดีในชั้นยึดทรัพย์ 499 คดีขายได้ 87 เรื่อง ราคาประเมิน 7.4 ล้านบาท ในชั้นอายัดทรัพย์ 1,093 คดี ทุนทรัพย์ 435 ล้านบาท ส่งเงินอายัดแล้ว 14 ล้านบาท และเป็นการบังคับคดีแทนศาลอื่น 51 คดี ราคาประเมิน 4.9 ล้านบาท

อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวด้วยว่า การบังคับคดีล้มละลายนั้น ขณะนี้เราเตรียมพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการติดตามทรัพย์สินซึ่งถือเป็นครั้งแรก โดยจะมีการติดตั้งคิวอาร์โค๊ต เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายทรัพย์ เนื่องจากที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีจะใช้วิธีการจดและถ่ายภาพทรัพย์ เช่น เครื่องจักร หรือทรัพย์อื่นๆ ไว้เป็นหลักฐาน

แต่หลังจากเวลาผ่านไป ก็พบว่ามีการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่ทำให้ยากต่อการติดตาม โดยเทคโนโลยีที่เรากำลังคิดกันอยู่นั้น คือเมื่อมีการเคลื่อนย้ายทรัพย์ออกจากพื้นที่ คิวอาร์โค๊ตที่เราติดไว้ก็ส่งสัญญาณกลับมาที่กรมบังคับคดี ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ทราบว่ามีการเคลื่อนย้ายทรัพย์ หลังจากนั้น เราก็จะเชิญเจ้าของมาให้การต่อไป นอกจากนี้ เรายังเตรียมใช้แอพพลิคเคชั่นไลน์ เพื่อเป็นช่องทางการในการติดต่อสื่อสารกับประชาชนผู้เสียหายอีกด้วย โดยจะมีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน