กรมชลฯ วอนหยุดทำนา-ลอบสูบน้ำ ชี้ภัยแล้งกระทบทำน้ำประปา 43 จังหวัด

กรมชลฯ / วันที่ 2 ม.ค. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สภาพากาศที่ร้อน ความชื้นมีน้อย การระเหยของน้ำมีสูง ทำให้ปริมาณน้ำสูญเสียไปมาก จากประมาณการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกในเดือน ม.ค. – พ.ค. จะมีน้อยมาก รวมไปถึงต้นฤดูฝนปี 2563 ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนปัจจุบันต้องลากยาวไปจนถึงเดือนก.ค. ล่าสุดกรมชลประทาน ระบุว่า ภัยแล้งปี 2563 รุนแรงเท่าปี 2558 แต่น้ำน้อยกว่าแห้งเร็วกว่า ฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 16% พื้นที่ประมาณ 43 จังหวัดเสี่ยงภัยแล้งรุนแรง

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ดังนั้นกรมชลประทาน จำเป็นต้องปรับแผนการระบายให้จากเขื่อนเจ้าพระยามากขึ้นอีก 10 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวัน เพื่อละลายน้ำเค็มที่คาดว่าจะรุกเข้ามามากขึ้นในเดือน ม.ค. – ก.พ. ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้น้ำจากเขื่อนเจ้าพระยามากขึ้น จึงจำเป็นที่ต้องฝันน้ำจากฝั่งตะวันตกเข้ามาช่วย ผ่านคลองประปา รวมทั้งที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในขณะที่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำเร่งการระบายให้ทันไล่น้ำเค็มภายใน 6 ชั่วโมงเท่านั้น

จากการสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 บริเวณลุ่มเจ้าพระยาขณะนี้พบว่ามีมากกว่า 2-2.9 ล้านไร่ โดยในจังหวัดนครสวรรค์ปลูกมากที่สุดเกินแผนไปแล้ว 7 หมื่นไร่ และฉะเชิงเทรา 7 พันไร่ นาปรังเหล่านี้จะต้องการน้ำมากที่สุดในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. ที่เป็นช่วงการเจริญเติบโตแต่มีน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงน้อย เสี่ยงต่อการขโมยสูบน้ำรายทางที่มีสถานีสูบน้ำมากกว่า 100 แห่งขึ้นไป

สทนช.จึงประสานกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ กับเกษตรกร ให้เห็นความสำคัญการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก และประเทศไทยจะเห็นภาพภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้นไปอีกในเดือน เม.ย.- มิ.ย. จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือเพื่อประหยัดการใช้น้ำอย่างจริงจัง

ทังนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามและปรับแผนให้สอดคล้องกับ สถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยที่มีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบได้ในอนาคต เช่น ลุ่มเจ้าพระยา ภาคตะวันออก และจังหวัดภูเก็ต ต้องวางกรอบแนวทางมาตรการเฉพาะพื้นที่เป็นระยะๆ

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ภัยแล้งที่ปี 2562/63 จะมีความรุนแรงใกล้เคียงกับปี 2558 ที่มีน้ำน้อยกว่า แต่ปีนี้สถานการณ์น้ำในแม่น้ำ ลำคลองแห้งเร็วกว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และการสูบนำไปใช้ ดังนั้น ตั้งแต่ต้นปี 63 เป็นต้นไป จะเห็นภาพแล้งที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น และจะรุนแรงมากยิ่งไปอีก เมื่อก้าวเข้าสู่ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นไป เพราะทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ว่าปริมาณฝนตกจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ประมาณ 16% จากเดิมคาดการณ์ไว้ว่าปริมาณผลจะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยเดือนหน้าสิ้ฤดูแล้งถึงต้นฤดูฝน

ล่าสุดได้ตั้งกรมชลประทานได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้งปี 2562/63 เพื่อเป็นไปตามข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และข้อห่วงใยของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่กังวลว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 จะรุนแรง และกระทบกับน้ำกินน้ำใช้ ในหลายพื้นที่ ขณะนี้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เรื่องของภัยแล้งปีนี้ ที่ทวีความรุนแรงอย่างมาก ให้ประชาชนคนใช้น้ำได้ตระหนักรู้หากใช้น้ำไม่ประหยัด จะทำให้ผลกระทบต่อน้ำกินได้

“ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด กรมชลประทานประกาศไม่ให้มีการปลูกข้าว ไม่ส่งน้ำสำหรับสนับสนุนการทำนา แต่ขIะนี้มีการใช้น้ำเกินแผนที่วางไว้ ทุกเดือนมีการใช้น้ำเกินแผน 4% และในแต่ละพื้นที่ก็ยังมีการปลูกข้าวเพิ่มต่อเนื่อง เพราะระหว่างทางที่มีการปล่อยเข้าในระบบชลประทาน มีการลักลอบสูบน้ำไปใช้จำนวนมาก เมื่อปลูกข้ามมาก น้ำน้อย น้ำเค็มหนุน ก็จะไม่มีน้ำทำประปา ทำให้กังวลว่าปีนี้น้ำอาจมีไม่ถึงฝนหน้า อยากให้เกษตรกร ชาวนางดปลูกข้าว เพราะกรมชลประทานเตรียมงบประมาณไว้ 3.6 พันล้านบาทไว้จ้างงาน สำหรับขุดลอกคูคลอง ประมาณ 3-78 เดือน จะจ้างงานได้ 1.4 หมื่นคน และแต่ละคนจะมีรายได้ประมาณ 3-4 หมื่นบาท”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน