ชาวบ้านราชบุรี ไม่หวั่นโรคจากค้างคาว เก็บมูลขายมา 40 ปี ยันเลิกเอามากินแล้ว

จากกรณีที่ ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักเทคนิคการแพทย์ รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ได้ดำเนินการสำรวจไวรัสที่พบในสัตว์ของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2553-2562 โดย จ.ราชบุรี เป็น 1 ใน 9 จังหวัด ที่ได้ทำการสำรวจ และพบว่ามีค้างคาวสายพันธุ์มงกฎยอดสั้นเล็ก ซึ่งเป็นค้างคาว 1ใน 2 สายพันธุ์ ที่มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสโคโรน่าที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศจีน

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่ถ้ำค้างคาว วัดเขาช่องพราน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งมีค้างคาวมากกว่า 3 ล้านตัว 17 สายพันธุ์ สร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน ทั้งในด้านการเกษตร และการท่องเที่ยว หล่อเลี้ยงชุมชน
นางแจ๋ว แหยมแจ่ม อายุ 65 ปี ชาวบ้าน เปิดเผยว่า ตนทำอาชีพเก็บมูลค้างคาวมาแล้วกว่า 40 ปี โดยในการเข้าไปเก็บทุกครั้ง ตนและคนอื่นๆ จะมีการเตรียมตัว ทั้งในส่วนของผ้าคลุมศีรษะ ผ้าปิดจมูก สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่ถุงมือ สวมรองเท้าบูทอย่างมิดชิด หลังการใช้งานก็จะซักทำความสะอาด และแยกเก็บไม่ปะปนกับเสื้อผ้าทั่วไป

นอกจากนี้ ตนและคนที่ทำหน้าที่เก็บมูลค้างคาวทุกคนจะได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ทั้งการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ สารคัดหลั่งบริเวณช่องปาก จมูก และหู ซึ่งผลการตรวจที่ผ่านมาก็ยังไม่พบความผิดปกติ

ด้านนายสิงหา สิทธิกูล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านเขาช่องพราน เปิดเผยว่า ในอดีต ผู้คนจะรู้จักเขาช่องพรานเพียงแค่เป็นแหล่งจำหน่ายมูลค้างคาว ที่ชาวสวนชาวไร่นิยมนำไปทำเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ ต่อมาเขาช่องพรานได้ถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันอนุรักษ์ค้างคาว ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง

สำหรับตน ผูกพันธ์กับถ้ำค้างคาวเขาช่องพรานมาตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยเกิด เติบโต และเรียนที่วัดเขาช่องพราน รวมไปถึงเข้าไปช่วยเก็บมูลค้างคาวในถ้ำอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก็ไม่เคยป่วยไข้หรือติดโรคอะไร โดยเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเชื่อกันว่าการกินค้างคาว ทั้งแบบกินเลือดค้างคาว และปรุงสุกหลายเมนู อาทิ ผัดกะเพรา ผัดเผ็ด ลาบ ด้วยมีความเชื่อว่าจะช่วยบำรุงร่างกาย

แต่หลังจากหน่วยงานสาธารณสุขได้เข้ามาให้ความรู้ รวมไปถึงยุคสมัยเปลี่ยนไป อีกทั้งค้างคาวยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งมีบทลงโทษที่หนัก คือทั้งจำและปรับ ทำให้ค่านิยมนี้หายไป

โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทางชาวบ้านโดยรอบเขาช่องพรานระยะรัศมี 1 กิโลเมตร ยังได้รับการตรวจสุขภาพและสารคัดหลั่งจากทีมวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลปรากฎว่าไม่มีชาวบ้านคนใดป่วยด้วยการติดเชื้อจากค้างคาวเลย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน