เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธีรวัช เหล็บหนู ปลัดอำเภอมะนัง จ.สตูล นายอร่าม ณ นคร เจ้าหน้าที่ทะเบียน ครูจากโรงเรียนบ้านผังปาล์ม 7 และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 นำรถขับเคลื่อน 4 ล้อเข้าไปเยี่ยมเยียนครอบครัวซาไก ที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ห่างจากถนนในหมู่บ้านด้วยเส้นทางทุลักทุเล 7 กิโลเมตร เพื่อมุ่งหน้าไปที่บ้านเลขที่ 345 ม.7 ต.ปาล์มพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล ซึ่งเป็นบ้านของครอบครัว “ศรีธารโต” ชนกลุ่มน้อยซาไกที่อาศัยเป็นหลักแหล่งในพื้นที่นานถึง 10 ปี เป็นครอบครัวล่าสุด ที่ว่าการอำเภอมะนังมีการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้เกือบครบทุกคนในครอบครัว ยังคงเหลือบุตรที่อายุยังไม่ครบกำหนดเพียง 2 คนเท่านั้น

ทันทีที่ถึงบ้านเป้าหมาย กลับพบว่าเป็นพัฒนาการที่เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อครอบครัวซาไก ชุดนี้มีการสร้างบ้านยกพื้นสูงเป็นบ้านพักที่อาศัยหลบแดดฝน แทนการสร้างทับ หรือบ้านพักอย่างง่าย เพื่อเตรียมเคลื่อนย้ายเหมือนในอดีต

นายเหน่ง ศรีธารโต อายุ 48 ปี ผู้นำในครอบครัวพร้อมภรรยา นางสายฝน ศรีมะนัง อายุ 30 ปี ที่เพิ่งกลับจากการหาลูกเนียง ของป่ามาขายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เล่าว่า อาศัยอยู่เป็นหลักแหล่งมานาน 10 ปี โดยปัจจุบันรับจ้างกรีดยางให้กับชาวบ้าน และหาของป่ามาขาย ลูกๆ ก็ส่งให้เรียนต่อในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และโรงเรียนใกล้ที่พัก ซึ่งก็ได้รับสิทธิ์เรียนฟรี

ขณะนี้ทุกคนในครอบครัว 9 คนมีบัตรประจำตัวประชาชนเกือบครบทุกคนแล้ว ต่างรู้สึกดีใจและขอขอบคุณผู้ใหญ่ในชุมชนที่ช่วยผลักดัน ให้ได้รับสิทธิเหมือนเช่นคนไทยทั่วไป โดยล่าสุดบุตรสาว เด็กหญิงสายฟ้า ศรีธารโต อายุ 11 ปี เพิ่งได้รับบัตรประจำตัวประชาชน และยังมีบุตรอีกที่อายุยังไม่ครบตามเกณฑ์กำหนด อีก 2 คน หากครบจะรีบนำไปทำบัตรประจำตัวประชาชนเช่นกัน เพื่อใช้สิทธิ์เหมือนคนไทยในการรักษาพยาบาล และรับสิทธิที่รัฐบาลมอบให้ในฐานะราษฎร์เต็มขั้นอีกคน

ด้านนายวิสูตร พฤกษสุวรรณ นายอำเภอมะนัง กล่าวว่า การทำบัตรประชาชนให้กับ มันนิหรือซาไกในพื้นที่อำเภอมะนัง เป็นนโยบายของกรมการปกครอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ต้องการให้ชนกลุ่มน้อยได้รับบัตรเพื่อรับสิทธิประโยชน์ที่รัฐมีให้อย่างเท่าเทียม

ขณะนี้ทางที่ว่าการอำเภอมะนังได้ทำบัตรฯให้แล้ว 3 ครอบครัว 18 คน ในหมู่ที่ 6 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 9 ของ ต.ปาล์มพัฒนา ยังคงเหลืออีก 4 คนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคือต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และมีผู้นำในพื้นที่รับรอง 3-4 คน จะได้รับการขึ้นทะเบียนในการทำบัตรประชาชน

สำหรับซาไกในเขตรอยต่อเทือกเขาบรรทัด ตรัง พัทลุง และสตูล ยังพบมีการอพยพเคลื่อนย้ายอีกจำนวนมากไม่น้อยกว่า 50 ชีวิตในป่าแห่งนี้ที่ยังใช้ชีวิตเดิม ๆ ยังไม่พร้อมจะอยู่ประจำถิ่น โดยไม่เข้าหลักเกณฑ์ของการทำบัตรประจำตัวประชาชน

สำหรับชนเผ่าซาไกนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เงาะป่าในแหลมมลายู ซาไกเป็นกลุ่มชาติพันธ์นิกริโต (nigrito) อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มๆกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ป่าเขาในภาคใต้ของประเทศไทยตลอดแหลมลายู ซาไกหรือคนไทยเรียกว่า “เงาะป่า” ยังมีผู้เรียกชื่อชนกลุ่มนี้อีกหลายชื่อ เช่น ซาแก เซมัง (samang) ซินนอย (senoi) คะนัง โอรัง อัสลี ออกแก นิกริโต และเงาะ ส่วนพวกซาไกเรียกตนเองว่า “ก็อย” “มันนิ” “คะนัง” เชื้อชาติเงาะป่าซาไกในแหลมมลายู

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน