ประธานบอร์ดกทพ. ยันจบมหากาพย์ ค่าโง่ทางด่วน 25 ปี ดีที่สุด-พนักงานโล่งใจ เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย ขยายสัมปทานยุติข้อพิพาทกับเอกชน

ค่าโง่ทางด่วน / เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีครม. มีมติอนุมัติต่อขยายสัมปทานทางด่วนให้กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 15 ปี 8 เดือน ตามแนวทางการเจรจากับฝ่ายเอกชน เพื่อขอให้ยุติคดีความและข้อพิพาททั้งหมด ว่า นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชี้แจงว่า การแก้ไขสัญญาโดยขยายสัมปทานเพื่อยุติข้อพิพาทครั้งนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมากว่า 25 ปี ลำพังแค่ข้อพิพาทที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินมาแล้วให้กทพ. ชดเชย 4,300 ล้าน ก็เสียหายมากแล้ว หากกทพ.สู้คดีต่อและแพ้คดีต่อไปอีก ซึ่งต้องยอมรับว่ามีโอกาสสูงมาก เพราะเป็นเรื่องเดิมที่แพ้แล้ว แต่จะเกิดขึ้นทุกปีจนจบสัมปทาน ถ้าถึงจุดนั้น ประเทศชาติจะเสียหายหนักมากขึ้น แล้วใครจะรับผิดชอบ

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายสุรงค์ กล่าวต่อว่า จากนั้นสังคมจะตั้งคำถามว่าทำไม่เจรจาเพื่อแก้ปัญหาให้จบแต่ต้น จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่รัฐบาลเข้ามาตัดสินใจแก้ปัญหา เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปจนถึงกระทรวงคมนาคมและกรรมการ กทพ. ชุดปัจจุบันไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหา แต่กลายเป็นคนต้องเข้ามาแก้ไข อยากให้สังคมได้เล็งเห็นจุดนี้ วันนี้คนที่พูดว่าให้สู้คดีต่อไปจึงอยากให้กลับมาคิดถึงส่วนรวม ว่าอะไรคือความเหมาะสม เป็นธรรม และแก้ปัญหาได้จริง อย่าเอาแค่สะใจและนำไปใช้เป็นประเด็นการเมืองโจมตีกัน

ประธานคณะกรรมการ กทพ. กล่าวอีกว่า การเจรจาดำเนินการโปร่งใส มีผู้แทนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเจรจา ทั้งกระทรวงคลัง สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด มีคณะกรรมการกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และมีการตรวจสอบทุกขั้นตอน คำถามที่เป็นประเด็นก็ชี้แจงต่อสังคม รวมทั้งคณะกรรมมาธิการวิสามัญของสภาพผู้แทนราษฎรไปแล้ว ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นด้วยกับการขยายสัมปทานเพื่อยุติข้อพิพาทกับเอกชน

ส่วนคำถามที่ว่า เหตุใดไม่ซื้อคืนสัมปทาน ต้องถามกลับว่า ซื้อคืนแล้วแก้ปัญหาตรงไหน รัฐจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อคืน การซื้อคืนย่อมเท่ากับเอาเงินไปให้เอกชนทันที ซึ่งหมายถึงการเอื้อเอกชน ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ถ้าสู้คดีแล้วเสียหายเป็นแสนล้าน จะเอาเงินที่ไหนจ่าย กทพ.ก็จะมีสภาพหนี้ท่วม หมดศักยภาพในการบริหาร

ด้านนายชาญชัย โพธิ์ทองคำ กรรมการสหภาพแรงงาน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ซึ่งรับผิดชอบดูแลพนักงานระดับปฏิบัติงาน และอดีตประธาน สร.กทพ. กล่าวถึงประเด็นเดียวกันว่า ผลที่เกิดขึ้นนับเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดของผู้บริหารในอดีต ซึ่งถือเป็นทางออกดีที่สุด ฝั่งพนักงานกทพ. และประชาชนไม่ต้องสุ่มเสี่ยงรับผลกระทบ

นายชาญชัย กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวต้องเข้าใจที่มาที่เกิดจากการทำสัญญาระหว่างรัฐและเอกชน เมื่อมีการผิดสัญญา เกิดการฟ้องร้อง และศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีเรื่องสร้างทางแข่งขันไปแล้ว ซึ่งกทพ.แพ้คดีให้กับ BEM การสู้คดีที่เหลือก็ไม่มีหลักประกันว่าจะชนะคดี หรือหากจะต่อสู้คดีต่อ ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยในคดีแรกก่อนเป็นมูลค่ากว่า 4 พันล้าน ซึ่งครม.เองก็ปฏิเสธที่จะจ่าย ดังนั้นการหาทางออกลักษณะนี้ส่งผลให้รัฐไม่ต้องแบกรับความเสียหายจากการฟ้องร้อง

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า จากนี้ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามมติครม. และขอให้รัฐบาลดูแลสวัสดิการของพนักงานกทพ.ให้ดี ส่วนเรื่องของกทพ. เมื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทแล้ว พนักงานก็สบายใจที่รัฐเข้ามาแก้ปัญหาได้ จะได้มีขวัญกำลังใจในการทำงาน ขณะที่ฝ่ายบริหารควรกลับมาดูเรื่องภารกิจคือการดูแลประชาชนผู้ใช้ทางด่วน วางแนวทางลดปัญหาจราจรติดขัด เพิ่มผิวจราจรให้มากขึ้น ลดความเดือดร้อนของประชาชนที่เสียค่าผ่านทาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน