หวั่นอาศัยช่วงชุลมุน โควิด-19 ระบาด ลักไก่ผ่านข้อตกลง เขื่อนหลวงพระบาง

วันที่ 24 มี.ค. น.ส.อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ (25 มี.ค.63) จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยหนึ่งในวาระสำคัญ คือพิจารณาท่าทีประเทศไทยต่อโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว ตามระเบียบปฏิบัติ เรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) จัดโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขาธิการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย

น.ส.อ้อมบุญ กล่าวว่าจากการติดตามกระบวนการปรึกษาหารือฯ PNPCA ซึ่งในประเทศไทย การชี้แจงให้ข้อมูลภายในประเทศนั้น สทนช. ได้จัดเวทีให้ข้อมูลโครงการ รวม 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 24 ธ.ค.62 ณ จังหวัดนครพนม ครั้งที่ 2 วันที่ 28 ม.ค.63 ณ จังหวัดอํานาจเจริญ และครั้งที่ 3 วันที่ 25 ก.พ.63 ณ จังหวัดเลย

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

โดยพบว่า องค์ประกอบของเวทีทั้ง 3 ครั้ง ผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มประชาสังคมกลุ่มเดิม ความเห็นต่อโครงการเขื่อนหลวงพระบางจึงไม่หลากหลาย เป็นตัวแทนของเห็นหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ มากกว่าประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงเป็นกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วม และจะทำให้ปัญหาในอนาคตหนักยิ่งขึ้น

น.ส.อ้อมบุญ กล่าวอีกว่า กระบวนการ PNPCA ครั้งนี้เป็นการจัดสำหรับโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงโครงการที่ 5 แล้ว เราเห็นตลอดมานับตั้งแต่โครงการแรก คือเขื่อนไซยะบุรี ว่าเป็นกระบวนการที่ล้มเหลว ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านริมโขงได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ เป็นเพียงทำให้เสร็จครบเวลา 6 เดือน ที่กำหนดไว้เท่านั้น ข้อกังวลของประชาชนแต่ละประเทศแทบไม่มีผลต่อกระบวนการตัดสินใจในระดับภูมิภาค

กระบวนการ PNPCA กำลังจะครบวาระ 6 เดือน ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ เรากังวลว่าอาจมีการใช้จังหวะชุลมุนที่ไวรัสโควิดกำลังระบาด และสังคมกำลังเหนื่อยล้ามีมติทำให้ผ่านโครงการ และทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า”น.ส.อ้อมบุญ กล่าว

น.ส.อ้อมบุญ กล่าวอีกว่า การประชุมในวันพรุ่งนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่เป็นคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย อาทิ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ควรทบทวนว่ากระบวนการ PNPCA นี้มีประโยชน์จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงตรายางให้โครงการเขื่อนแม่น้ำโขงได้รับอนุมัติเท่านั้น

หลายปีที่ผ่านมา เห็นแล้วว่ากระบวนการต้องยกเครื่อง ต้องระบุให้เห็นชัดถึงแผนการดำเนินงานการรวบรวมองค์ความรู้ที่หลากหลาย มีแผนรับฟังข้อคิดเห็น การลงลึกถึงชุมชนระดับหมู่บ้าน ตำบล และชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ มีฐานงานวิจัยที่ชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาสังคม วิชาการ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ การรวบรวมข้อเสนอ แผนงาน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จากหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งการหารือกับหน่วยงานในระดับนโยบาย และรองรับการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่

“นอกจากนี้ เราเห็นในข่าวหลายสำนักว่าประเทศเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขงตอนล่าง กัมพูชา มีจุดยืนว่าไม่สร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักอีกอย่างน้อย 10 ปี ส่วนเวียดนามก็เดือดร้อนมากจากภัยแล้งที่ปากแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบสาหัสโดยเฉพาะเกษตรกร ที่สำคัญคือ สถานการณ์พลังงานของไทย ที่ไม่ได้ขาดแคลนไฟฟ้า ยิ่งเกิดโรคระบาดแบบนี้ ยังจะเอาเงินของประเทศชาติไปรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากโครงการเขื่อนหลวงพระบางอีกหรือ” ผู้ประสานงานเครือข่าย กล่าว

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนหลวงพระบาง จะสร้างกั้นแม่น้ำโขงใกล้กับเมืองหลวงพระบาง ใน สปป.ลาว มีกำลังผลิตติดตั้ง1,460 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่เหนือน้ำจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดยบริษัทปิโตรเวียตนามได้ลงนามพัฒนาโครงการกับรัฐบาลลาว และก่อนหน้านี้ผู้บริหารบริษัท ช.การช่าง เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะเป็นผู้ร่วมพัฒนาโครงการ โดยคาดว่าจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน