“วราวุธ”รมว.ทส เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่ดินชุมชนเมืองระนอง พร้อมหาแนวทางเพิกถอนป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุย (บางส่วน) ส่งมอบกรมธนารักษ์จัดสรรที่ดินทำกิน

 

กรณีปัญหาความเดือนร้อนของชาวระนองอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินป่าชายเลนชุมชนเมืองระนอง บริเวณพื้นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง (อบจ.ระนอง) และเทศบาลเมืองระนองขอใช้ประโยชน์เดิม จากกรมป่าไม้ รวม 3 แปลง เนื้อที่ 484 ไร่ แต่หนังสืออนุญาตได้หมดอายุลงตั้งแต่ปี 2539 ปี 2540 และปี 2559 และยังไม่สามารถขอต่ออายุหนังสืออนุญาตได้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นผู้บุกรุกป่า ไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก จึงมีการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวระนองเรื่อยมา นั้น

 

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

 

นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พร้อมด้วยนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ได้ประชุมหารือร่วมกับนายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผวจ.จังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้เสียกว่า 100 คน เพื่อหาแนวทางการดำเนินการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุย (บางส่วน) เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้แก่กรมธนารักษ์นำไปบริหารจัดการตามระเบียบ

 

นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. พร้อมด้วยนายโสภณ ทองดี อธิบดีทช. นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผวจ.จังหวัดระนอง ร่วมแก้ปัญหาที่ดินให้ชาวระนอง

 

สำหรับพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุย และเป็นพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีที่ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นผู้รับผิดชอบแทนกรมป่าไม้ ตั้งอยู่ในท้องที่ต.บางริ้นและต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง เดิมเป็นพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมสภาพที่ผ่านการทำเหมืองแร่มาก่อน โดยในปี 2525 อบจ. ระนอง ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ให้นำที่ดินไปจัดให้ราษฎรเช่าอยู่อาศัย และจัดให้เป็นย่านการค้าอุตสาหกรรม เนื้อที่ 242 ไร่2๒ งาน และในปี 2529 ได้รับอนุญาตเพิ่มอีก 224 ไร่ ส่วนเทศบาลเมืองระนองได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ เนื้อ 17 ไร่ 2 งาน

 

ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ชุมชนเมืองเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา อบจ. ระนอง ได้พยายามขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามไม่ให้อนุญาตการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนทุกกรณีแต่ยังไม่เป็นผล เนื่องจากติดเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าปลูกป่าทดแทน 20 เท่า ของพื้นที่ขอใช้ประโยชน์ ซึ่ง อบจ. ระนอง มีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะดำเนินการได้

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 61 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการในท้องที่จังหวัดระนอง พร้อมรับฟังปัญหาความเดือดของราษฎรที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนที่หมดอายุการอนุญาต จึงได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรฯ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวระนองโดยเร็ว

 

ขณะนั้นกระทรวงทรัพยากรฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนชุมชนเมือง จังหวัดระนอง ขึ้น โดยมีอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธาน คณะทำงานฯ ดังกล่าว ได้มีมติ เห็นชอบให้ดำเนินการการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ และส่งมอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการบริหารจัดการตามกฎหมาย สำหรับข้อระเบียบกฎหมายที่ติดขัด ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไปหารือร่วมกับกรมธนารักษ์ต่อไป

 

นายโสภณ กล่าวว่า ตนได้รายงานนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. รับทราบผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวระนอง

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. กำชับให้เร่งแก้ปัญหาที่ดินให้ชาวระนองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

โดยนายวราวุธ ได้กล่าวย้ำให้กรมกรมเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวระนองให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วที่สุด เพื่อใช้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้ชาวระนอง

 

ขณะที่นายจตุพร ได้กำชับในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพราะจะช่วยให้ปลดล็อคการอยู่อาศัยแบบผิดกฎหมายมานานนับหลายสิบปีของพี่น้องประชาชนชาวระนองให้อยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและที่สำคัญการพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง ตลอดจนการลงทุนต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน