เตือน พายุฤดูร้อน เดือนเม.ย.ส่งผลให้ฝนตกหนัก 3 ภาคบริเวณอีสาน ตะวันออก และภาคกลาง คาดส่งผลกระทบลากยาวถึงวันที่ 27 เม.ย.เลยทีเดียว
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า จากการติดตามประเมินสภาพอากาศและการคาดการณ์พบว่า ในเดือนเมษายนนี้จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลยาวไปถึงประมาณวันที่ 27 เม.ย.
โดยฝนที่ตกส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และภาคกลางบางพื้นที่ ซี่งได้เน้นย้ำทุกหน่วยงาน และภาคส่วนเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมเก็บกักน้ำให้มากที่สุด ส่วนการคาดการณ์พายุในฤดูฝนขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มการเกิดพายุแต่อย่างใด ซึ่งคณะทำงานฯ จะมีการติดตามประเมินสถานการณ์พายุและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งเตือน และวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ เป็นระยะๆ ต่อไป
กดติดตามไลน์ข่าวสด official account ได้ที่นี่
ขณะที่สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง และแหล่งน้ำธรรมชาติ พบว่าในแหล่งน้ำหลายพื้นที่ปริมาณน้ำใช้การไม่เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง อาจส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคหากไม่มีมาตรการรองรับ ซึ่งขณะนี้การประปาภูมิภาค การประปานครหลวง และประปาท้องถิ่น โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการสำรวจและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ป้องกันการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ตลอดช่วงแล้งจนถึงสิ้นมิถุนายนนี้ให้ได้
39จว.ยังหนัก! กรมอุตุฯ เตือนพายุฤดูร้อนถล่ม ลูกเห็บตก กทม.โดนด้วย
ข่าวเศร้าอีก ไทยตายโควิด 3 ราย ยอดรวมเพิ่มเป็น 15 ผู้ป่วยใหม่ลด
ซึ่งจากการความก้าวหน้าโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปี 2562/63 พบว่า จากแผนงานโครงการการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภคในพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ 43 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 2,041 แห่งจากแผนงานที่ได้รับอนุมัติจากมติ ครม. (7 ม.ค.63) ซึ่งทุกหน่วยงานได้เร่งรัดดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ขณะที่โครงการเร่งด่วนเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝนปี 2563 และโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 (เพิ่มเติม) ที่ ครม.มีมติเมื่อ 17 มี.ค.63 รวม 6,806 โครงการ ดำเนินการโดย 11 หน่วยงาน พบว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจัดสรรจากสำนักงบประมาณ ยกเว้นกรมชลประทานที่ได้รับการจัดสรรแล้ว จำนวน 266 โครงการ ที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที ซี่งที่ประชุมได้ติดตามเร่งรัดเพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายใน 30 มิ.ย.นี้ สามารถเก็บกักน้ำในฤดูฝนนี้ได้ทันสถานการณ์
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำหลากในฤดูฝน ปี 2563 โดยเร่งสำรวจแม่น้ำคูคลองด้วยภาพถ่ายดาวเทียมในแม่น้ำสายหลัก แผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2563
ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่พื้นที่อื่นๆ หากปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะวางแผนการจัดสรรน้ำ การส่งน้ำในแต่ละพื้นที่โดยแจ้งผ่านกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อเตรียมเริ่มต้นการเพาะปลูก
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะนำประเด็นต่างๆ นำเสนอสรุปเข้าสู่ที่ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมในวันที่ 9 เม.ย.นี้ด้วย