พบพะยูนเพศผู้ยาวกว่า 2 เมตร เกยตื้นที่อ่าวด้านหลังเกาะพีพีจ.กระบี่ เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา สภาพอ่อนเพลีย มีบาดแผลฉกรรจ์ที่หลังเริ่มเน่าเหม็น เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งเข้าช่วยเหลือแต่สุดท้ายตายเมื่อช่วงเช้า

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต เข้าช่วยเหลือพะยูนเพศผู้ น้ำหนักกว่า 44 กิโลกรัม ความยาวประมาณ 2 เมตร หลังชาวบ้านและผู้ประกอบการบนเกาะพีพี พบลอยเกยตื้นบริเวณอ่าวด้านหลังเกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ เมื่อกลางดึกวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าพะยูนอยู่ในสภาพอ่อนแรง มีบาดแผลถลอกคล้ายของมีคมอยู่ที่บริเวณแผ่นหลังไปจนถึงโคนหาง และเริ่มมีกลิ่นเน่าเหม็น เจ้าหน้าที่ให้ยาปฏิชีวนะ ให้น้ำเกลือ ก่อนนำตัวไปรักษาต่อที่ศูนย์วิจัยฯ เบื้องต้นอาการยังไม่ดีขึ้น ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าเวลา 08.30 น. พะยูนตัวดังกล่าวก็ตายลง

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า หลังเจ้าหน้าที่พยามช่วยชีวิตพะยูนตัวกล่าวอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ เบื้องต้นคาดว่าถูกของคมฟันที่แผ่นหลัง อาจจะเกิดจากใบจักรเรือฟันหรือเครื่องมือประมงบางอย่าง และมีอาการป่วยมาอยู่หลายวัน จนกระทั่งอ่อนแรงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก่อนที่จะถูกคลื่นซัดมาที่ชายฝั่งเกาะพีพีและมีชาวบ้านไปพบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการการผ่าซาก เพื่อตรวจสอบอวัยวะภายในว่า มีการติดเชื้อหรือไม่ เพื่อหาสาเหตุการตายต่อไป

สำหรับในรอบในปีนี้ในทะเลฝั่งอันดามันพบว่า พะยูนตายจากอุบัติเหตุทางทะเลแล้วจำนวนกว่า 10 ตัว ส่งผลทำให้ปริมาณพะยูนลดจำนวนลง ส่วนใหญ่จะถูกใบจักรเรือ เครื่องมือประมง เช่นอวนจากเรือประมง ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์วิจัยฯหาทางป้องกัน โดยการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์พะยูน โดยเริ่มโครงการนำร่องที่จังหวัดตรังและขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง เพื่อป้องกันพะยูนได้รับอันตราย โดยให้ชาวประมงมีส่วนร่วมในการดูแล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน