วันที่ 11 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.เขต 4 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ลงพื้นที่ตลาดนัดตำบล บ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ให้ความรู้การป้องกันตัวเองจากไวรัสโควิด 19 พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้อย่างเป็นระบบ ปรับพื้นที่เพาะปลูก และจัดหาตลาดประเทศเพื่อนบ้าน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ ที่กำชับให้ส.ส.ทุกคนเร่งลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19

พร้อมแนะนำชาวบ้านน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยพื้นที่สทิงพระประกอบด้วย 4 อำเภอ มีอำเภอระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ และอำเภอสิงหนคร แต่ที่ผ่านมาอำเภอสทิงพระ มีปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก ตนในฐานะส.ส จึงหยิบยกปัญหาดังกล่าวหารือในที่ประชุมสภาฯ เสนอการทำแก้มลิง พร้อมประสานให้กรมชลประทานที่เข้ามาสูบน้ำ จัดหาแหล่งน้ำอื่น เช่น แหล่งน้ำจากคลองชะอวดแพรกเมือง มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

ส่วนปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด ที่ทำให้เกษตรกรขาดทุน และเป็นหนี้ ธกส.ทุกครัวเรือน ร.ต.อ.อรุณ กล่าวว่า ตนหารือกับพ.ต.ท.สุนิตย์ ห้องชู ซึ่งรู้จักกับพ่อค้ามาเลเซีย เพื่อสอบถามถึงความต้องการของตลาดเพราะให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกตามโครงการสร้างงานสร้างอาชีพ ตามแนวพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยน้อมนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ไร่นาสวนผสม โดยเริ่มนำร่อง ที่หมู่ 1 ตำบลตะเครียะ พบว่าชาวบ้านก็มีความสุขมากขึ้น จึงเตรียมนำเมล็ดพันธุ์พืชผักที่มาเลเซียมาต้องการ ขยายไปปลูกเพิ่มในอำเภออื่นๆ โดยประสานกรมพัฒนาที่ดินที่ 12 สงขลา เข้ามาช่วยวางระบบขุดบ่อน้ำจืดในพื้นที่เกษตรกร เพื่อไว้เก็บน้ำไว้ใช้ทางการเกษตร มั่นใจว่าพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จะเป็นแผ่นดินทำแผ่นดินทองในอนาคต

พ.ต.ท.สุนิตย์ ห้องชู เป็นตัวแทนชาวบ้าน รวบรวมสินค้าทั้งหมดของเกษตรกร ก่อนจะมีพ่อค้าจากมาเลเชียมารับสินค้าในทุกเย็น กล่าวว่า ร.ต.อ.อรุณ นอกจากจะเข้ามาให้ความรู้เรื่องโควิดแล้ว ยังได้เข้ามาแนะนำอาชีพให้กับชาวบ้าน พร้อมหาตลาดให้ชาวบ้านได้ค้าขายอีกด้วย ทำให้ชาวบ้านที่นี่ไม่มีใครพูดถึงเงิน 5,000 จากรัฐบาล

นายสุนธร ไวยภักดิ์ ชาวสวน กล่าวขอบคุณ ร.ต.อ.อรุณ ที่ช่วยตลาดและหาเมล็ดพันธ์มาให้เกษตรกร ทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ตัวเองมีพื้นที่ 1 ไร่ แบ่งเป็นบ่อปลา ปลูกพริก ปลูกมะระ และมะเขือ ซึ่งเป็นพืชที่ตลาดมาเลเซียต้องการ ทำให้ทุกวันนี้เก็บผลผลิตได้เดือนละ10 ครั้งๆละกว่า 1,000 บาททำให้ครอบครัวมีรายได้กว่าหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน