วันที่ 26 พ.ค. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ มอบหมายให้ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีดีเอสไอ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง ดีเอสไอ และ นายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย ผู้อำนวยการส่วนคดีความมั่นคง 2 ดีเอสไอ ร่วมกับ นายวีระชาติ ดาริชาติ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง นายเอกอนันต์ ศรีอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปรามการทุจริตการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน กรมการปกครอง นายอุดม อยู่อินไกร นายอำเภอเวียงแก่น และ ภ.จว.เชียงราย แถลงผลการตรวจสอบการนำคนต่างด้าวมาสวมสิทธิสัญชาติไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และได้ใช้สิทธิไปประกอบธุรกิจต้องห้าม อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ด้วย

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อทางดีไอเอสได้รับแจ้งจากกรมการกงสุลว่าได้มีบุคคลชื่อ นายแก้ว แซ่ลี ถือหนังสือเดินทางระหว่างประเทศถึง 2 ฉบับ คือสัญชาติไทย และสัญชาติจีน และครั้งหนึ่งได้ถือผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศจีน ทำให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบว่า นายแก้ว เป็นชาวต่างด้าวแต่ได้สวมสัญชาติไทยด้วยชื่อของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ ณ สำนักงานทะเบียน อ.เวียงแก่น โดยมีอดีตปลัดอำเภอคนหนึ่ง ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอเป็นผู้ดำเนินการ

ล่าสุดทางดีเอสไอได้เสนอให้กรมการปกครองเพิกถอนรายการสิทธิสัญชาติไทยและดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องแล้ว จากนั้นได้ร่วมกับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ขยายผลก็พบว่ามีการผู้สวมสิทธิโดยมิชอบในช่วงที่ปลัดอำเภอคนดังกล่าวทำหน้าที่อีกถึง 255 คน ทำให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษเรื่องสืบสวนที่ 23/2563 และได้นำรายชื่อทั้งหมดส่งไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพื่อตรวจเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลที่แท้จริง

และเมื่อส่งตรวจไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ก็พบว่ามีผู้ไปจดทะเบียนประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวจำนวน 15 ราย โดยเป็นลักษณะของนิติบุคคลรวม 19 บริษัท และพบว่า 1 ใน 15 รายดังกล่าวได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากถึง 3 บริษัท และมีทุนจดทะเบียนรวมกันไม่น้อยกว่า 3,600 ล้านบาทด้วย ซึ่งถือว่ามีสินทรัพย์ของนิติบุคคลเกิน 100 ล้านบาท และเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษที่ดีเอสไอสามารถเข้าดำเนินการตามกฎหมายได้

พ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าวว่า ดีเอสไอมุ่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 อย่างเด็ดขาดและครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อคุ้มครองธุรกิจที่คนไทยไม่พร้อมที่จะแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะได้มีคนต่างด้าวสวมสิทธิเป็นคนไทยโดยมิชอบ แล้วเข้าไปถือหุ้นแทนหรือเป็นนอมินีเพื่ออำพรางว่าเป็นธุรกิจของคนไทย

ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบที่มาของแหล่งเงินทุนของธุรกิจว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายฟอกเงินด้วยหรือไม่ และหากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดดังกล่าว สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ที่สายด่วน 1202 โดยจะเก็บรักษาข้อมูลเป็นความลับด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน