อีก300ชีวิตตกงาน! ฮือประท้วงจับเซ็นลดค่าแรง สุดท้ายโรงงานประกาศปิดกิจการ แจ้งออเดอร์ไม่มีแล้ว

จากกรณี พนักงานโรงงานผลิตกระเป๋าส่งออกในพื้นที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ กว่า 300 คน รวมตัวกันประท้วงเรียกร้องขอความเป็นธรรมหน้าโรงงาน โดยระบุไม่พอใจที่ถูกนายจ้างเอาเปรียบด้วยการบังคับให้เซ็นรับค่าแรงวันละ 198 บาท หรือ 62 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างที่ได้รับตามกฎหมายวันละ 320 บาท โดยบริษัทอ้างว่าไม่มีออเดอร์งาน ซึ่งพนักงานเรียกร้องให้จ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย คือ ร้อยละ 75 หรือวันละ 240 บาทของค่าจ้าง

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ล่าสุดเรื่องนี้ วันที่ 3 ส.ค. เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.บุรีรัมย์ พร้อมเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจังหวัด ตำรวจ สภ.ลำปลายมาศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่พูดคุยกับตัวแทนผู้ประกอบการและพนักงาน เพื่อหาทางออกร่วมกันกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้ใช้เวลาพูดคุยกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งตัวแทนผู้ประกอบการแจ้งว่า ไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของพนักงานได้ เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากพิษโควิดและปัญหาเศรษฐกิจ ไม่มีออเดอร์งานเข้ามาทำให้ขาดสภาพคล่อง จำเป็นต้องปิดกิจการโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.ที่จะถึงนี้ แต่รับปากว่าตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 ส.ค.จะจ่ายค่าจ้างให้วันละ 320 บาทตามปกติ ส่วนกรณีที่ประกาศปิดกิจการก็จะจ่ายชดเชยให้ตามอายุการทำงานของพนักงานแต่ละคน

300ชีวิตตกงาน

ขณะที่ตัวแทนพนักงาน เปิดเผยว่า หลังพูดคุยกันแล้วตัวแทนบริษัทแจ้งว่าจะปิดกิจการวันที่ 16 ส.ค.ที่จะถึงนี้ ทำให้ทุกคนใจหายแต่ก็ต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น แต่ก็พอใจที่บริษัทรับปากว่าวันนี้ถึงวันที่ 15 ส.ค.จะจ่ายค่าจ้างตามปกติ ส่วนที่ประกาศปิดกิจการก็จะชดเชยให้ตามอายุงานของแต่ละคน ขณะที่หน่วยงานรายการก็จะให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันการว่างงานตามกฎหมาย และจัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

300ชีวิตตกงาน

ด้านน.ส.สุทธิณี ปิยะสันติกุล นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนประกันสังคม จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า จากกรณีบริษัทผลิตกระเป๋าส่งออกประกาศจะปิดกิจการวันที่ 16 ส.ค.ที่จะถึงนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานก็จะเข้าไปดูแลช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับเงินค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการจัดหาตำแหน่งงานรองรับด้วย ในส่วนของประกันสังคมก็จะมีเงินประกันการว่างงาน กรณีลูกจ้างหรือผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าแรงงานส่วนใหญ่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์ก็จะได้รับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 200 วัน โดยแรงงานจะต้องมารายงานเดือนละครั้ง เพราะทางประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนการว่างงานให้เป็นรายเดือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน