เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้ปลูกดอกมะลิ ในหมู่บ้านโนนไม้แดง ม.2 ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ต่างพากันเก็บดอกมะลิที่ปลูกไว้ในสวน เพื่อนำไปขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง และส่วนหนึ่งก็จะนำไปร้อยเป็นพวงมาลัยขายตามตลาดสดทั่วไป โดยหมู่บ้านโนนไม้แดงแห่งนี้ มีชาวบ้านกว่า 50 หลังคาเรือน ทำสวนปลูกต้นมะลิเพื่อจำหน่ายดอกเป็นอาชีพหลักของครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นหมู่บ้านที่มีการทำสวนมะลิใหญ่ที่สุดในจ.นครราชสีมา โดยแต่ละวันชาวบ้านจะเก็บดอกมะลิที่ตูมได้ขนาดจำนวนมาก เพื่อนำไปขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางทั่วประเทศ ตามออเดอร์ที่สั่งมา และบางครอบครัวก็จะนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยขายตามตลาดทั่วไป ซึ่งช่วงนี้ของทุกปีต้นมะลิในสวนจะออกดอกเต็มต้น แต่ปีนี้พบว่าต้นมะลิออกดอกน้อยมาก ส่งผลให้ราคาดอกมะลิพุ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัว

นายสุนทร แก่นสันเที๊ยะ อายุ 54 ปี หนึ่งในเกษตรกรผู้ทำสวนมะลิ บ้านโนนไม้แดง กล่าวว่า สวนของตนปลูกต้นมะลิไว้ทั้งหมด 400 กว่าต้น ซึ่งทุกปีช่วงก่อนถึงเทศกาลวันแม่แห่งชาติ มะลิจะออกดอกเต็มต้น สามารถเก็บดอกขายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 40 กิโลกรัม แต่มาปีนี้พบว่ามะลิในสวนประสบปัญหาเพลี้ยลง และมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดอกมะลิหลุดจากขั้วร่วงโรยเกือบหมด ที่เหลือก็มีสภาพไม่สวยงาม จึงทำให้ขณะนี้สามารถเก็บดอกได้วันละ 4-5 กิโลกรัมเท่านั้น

นายสุนทร กล่าวต่อว่า และด้วยความที่ปีนี้ดอกมะลิออกน้อย ก็ส่งผลให้ช่วงเทศกาลวันแม่ปีนี้ราคาดอกมะลิพุ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัว จากเดิมที่เคยขายส่งกิโลกรัมละ 200 บาท และพ่อค้าคนกลางนำไปขายต่อให้กับร้านค้าต่างๆ กิโลกรัมละ 400 บาท มาในปีนี้ตนต้องขายส่งกิโลกรัมละ 400 บาท พ่อค้าคนกลางนำไปขายต่อในราคากิโลกรัมละ 800-900 บาท แม้ว่าราคาดอกมะลิจะแพงแต่ก็มีลูกค้าสั่งออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก เฉลี่ยวันละ 30 กิโลกรัม แต่ตนก็ไม่มีให้ บางรายจึงต้องไปสั่งจากปากคลองตลาดแทน ซึ่งจะมีราคาต้นทุนสูงกว่านี้

นายสุนทร กล่าวอีกว่า ส่วนเกษตรกรบางราย ก็ได้นำดอกมะลิไปร้อยทำพวงมาลัยขายเอง โดยถ้าเป็นพวงมาลัย 5 แถว ใช้ดอกมะลิ 50 ดอก ประดับด้วยดอกรักและดอกจำปี จะขายส่งในราคาพวงละ 15 บาท แต่ถ้าเป็นพวงมาลัยใหญ่ ก็จะขายในราคา 150 บาท ซึ่งถือว่าแพงมาก ดังนั้นบางร้านจึงใช้ดอกพุดร้อยเป็นพวงมาลัยแทนดอกมะลิ เพื่อทำให้มีราคาถูกลงกว่าครึ่ง แต่พวงมาลัยดอกพุดก็ไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะไม่มีกลิ่นหอมเหมือนดอกมะลิ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน