ชาวบ้านบุญเรือง ฉลองรางวัลระดับโลก นักวิชาการชี้ ป่าชุ่มน้ำอิงอัตลักษณ์หนึ่งเดียว

วันที่ 15 ก.ย. ที่ ป่าชุมชนบุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย จัดงานแสดงความยินดีกับ ชุมชนบุญเรือง และภาคีลุ่มน้ำอิง เนื่องในวาระที่ได้รับรางวัล อิเควเตอร์ ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (Equator prize: UNDP) และ เวทีเสวนาการยกระดับการจัดการป่าชุ่มน้ำอิงตอนล่าง และแนวทางการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีการนำผลิตผลทางการเกษตรและผลผลิตจากป่าชุมชนมาทำอาหาร นอกจากนี้ยังมีการแจกแก้วไม้ไผ่สำหรับผู้ที่มาร่วมงานเพื่อป้องกันโควิด โดยมีพระสงฆ์ เยาวชนและประชาชนหลายร้อยคนร่วมงาน

นายกฤษเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวเปิดงานว่า ผืนป่าแห่งนี้มีประวัติยาวนานและมีความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศเป็น 1 เดียวของประเทศไทยที่เป็นป่าชุ่มน้ำในลักษณะทางภาคเหนือ ถือว่าเป็นความสำเร็จของประชาชนที่อยู่กับธรรมชาติ ตนพบว่าที่นี่เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มากกว่า 100 ปีโดยประชาชนช่วยกันดูแล อยากให้ป่าตรงนี้สามารถขยายไปพื้นที่อื่นและอยู่ต่อไปเป็นร้อยๆปี

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

“อยากให้ตรงนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้โดยมีเยาวชนในพื้นที่เป็นคนถ่ายทอด ชุมชนนี้ไม่เคยทำพนังกั้นน้ำเพราะอยู่กับธรรมชาติ ขณะที่ชุมชนอื่นๆพอน้ำท่วมก็รีบทำพนังกั้นน้ำสูญเสียงบประมาณ ธรรมชาติมีทั้งคุณและภัย แต่ทำอย่างไรเราอยู่กับธรรมชาติได้ การไปเปลี่ยนแปลงกายภาพสู้กับธรรมชาตินั้น ในที่สุดก็สู้ธรรมมชาติไม่ได้ แต่คนบุญเรืองอยู่มาเป็นร้อยปีกับน้ำที่ท่วมและอยู่กันได้ ดังนั้นรางวัลที่ชุมชนได้รับครั้งนี้เป็นความภูมิใจของคนเชียงรายทั้งจังหวัด”นายกฤษเพชร กล่าว

ภายในงานได้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “Wetland For Life พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อชีวิต และร่วมมองอนาคตการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงตอนล่าง” โดยผู้ร่วมประกอบด้วย นายทรงพล จันทะเรือง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านบุญเรือง นางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดเชียงราย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนน้ำของ นายสุทธิ มลิทอง รองผู้อำนวยการสถาบั้นความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

นายยรรยง ศรีเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด WWF นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต นายวิชา นรังศรี คณะทำงานพื้นที่ชุ่มน้ำ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ น.ส.เขมอัปสร สิริสุขะ ดารานักแสดง ดำเนินรายการโดย น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

นายทรงพล กล่าวว่า การต่อสู้ของชาวบ้านคือการสร้างความเข้าใจให้กับทุกคน เช่น มีคนบอกว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่เรายืนยันว่าป่าผืนนี้สมบูรณ์กว่าป่าเสื่อมโทรมถึง 8 เท่า หรือที่กล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกป่า แต่เราบอกว่าต้นไม้ทุกต้นเป็นสมบัติของส่วนรวม เราใช้ธรรมชาติฟื้นฟูธรรมชาติ ชาวบ้านทำการเกษตรอยู่กับน้ำและป่าที่เป็นเหมือนหม้อข้าวหม้อแกง การที่บอกว่าจะเอาความเจริญมาให้ แต่ได้ถามชาวบ้านหรือยัง เราไม่อยากให้ใช้พื้นที่ป่า การที่คุณจะถมที่ดินกว่า 3 พันไร่เพื่อสร้าวเขตอุตสาหกรรมจะไปเอาดินที่ไหนมา

ด้าน น.ส.เขมอัปสร กล่าวว่า ถ้าป่าบุญเรืองกลายเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ คงน่าเสียดายมาก จากการที่ได้ไปเดินสำรวจ เราไม่เคยเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์และต้นไม้แปลกตาเท่านี้ ป่าแห่งนี้ไม่ใช่ของคนบุญเรืองเท่านั้นแต่เป็นปอดของโลก จริงๆแล้วการเอาอะไรเข้ามาควรถามคนในพื้นที่ก่อน ควรเคารพสิทธิของเขา

รู้สึกดีและชื่นใจในความเข้มแข็งของชุมชน แม้มีความหวังดีจากภาครัฐเข้ามา แต่ถ้าชาวบ้านยืนยัดและแสดงให้เห็นว่ามีประโยชน์ก็สามารถต่อสู้ได้โดยการสื่อสารสำคัญมากในการทำให้คนภายนอกเข้าใจ ถ้าหลายชุมชนอื่นกำลังเผชิญสถานการณ์แบบเดียวกันอยู่ อยากให้มาศึกษาวิธีการของชุมชนบุญเรือง

ความเข้มแข็งของชาวบ้านที่นี่เป็นแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่อื่นๆ ป่าแห่งนี้คือซุปเปอร์มาเก็ตดีๆ ป่านี้อุดมสมบูรณ์มาก จึงเป็นพื้นที่เราควรอนุรักษ์ไว้”เชอรี่ กล่าว

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า คนบุญเรืองมีประสบการณ์ในการต่อสู้เพื่อปกป้องป่าที่หวงแหน ตอนแรกที่รัฐบาลบอกว่าจะเอาป่าแห่งนี้ไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษทุกคนรู้สึกสิ้นหวังเพราะไม่รู้จะหันหน้าไปทางใด ถ้าเป็นยุคก่อนคงต้องเอาดาบไปฟันกัน

แต่ในยุคนี้ชาวบ้านรู้กระบวนการ ที่สำคัญคือชาวบ้านบุญเรืองมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่อันเกิดจากวิถีวัฒนธรรมที่มีความเคารพธรรมชาติ ทำให้คนบุญเรืองต่างจากบ้านอื่นเพราะสืบทอดความเชื่อจากบรรพบุรุษ ที่สำเร็จเพราะสำนึกในท้องถิ่นและสำนักถึงอนาคตในวันข้างหน้า ทำให้นำพาชุมชนรอดพ้นจากโครงการขนาดใหญ่

“วันแรกที่ชาวบ้านไปหา ผมบอกว่าให้จัดขบวน ว่าใครมีหน้าที่ทำอะไร ให้ทำ ที่สำคัญคือหัวใจที่รักธรรมชาติ และการสร้างองค์ความรู้ ซึ่งสำคัญมากเพราะบ่อยครั้งที่หน่วยงานรัฐเข้ามามักมองว่าชาวบ้านไม่มีความรู้

แต่ชาวบ้านที่นี่ไม่ใช่เพราะชาวบ้านมีองค์ความรู้ที่ชัดเจนเป็นเครื่องมือในการต่อรอง เดี๋ยวนี้ผืนป่าบุญเรืองถูกยกระดับขึ้น หน่วยงานของรัฐรับรู้แล้ว แต่เส้นทางของลุ่มน้ำอิงยังมีขวากหนามมากที่จะถูกทำลายจากกฎหมายและโครงสร้างต่างๆ วันนี้เฉลิมฉลองรางวัลแล้วเราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร”นายนิวัฒน์ กล่าว

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ชาวบ้านต้องทำให้เห็นว่าป่านี้มีความสำคัญต่อโลกอย่างไร และความเป็นป่าพิเศษแห่งนี้ได้รับความคุ้มครองด้วยข้อกฏหมาย ปัญหาใหญ่ คือ น้ำอิงเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง แต่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างหนักเพราะจีนสร้างเขื่อน 11 แห่งกั้น ทำให้แม่น้ำโขงแห้ง เกิดวิกฤตการทำงานของระบบนิเวศ จีนกักน้ำในฤดูน้ำหลากและปล่อยน้ำในฤดูน้ำแล้ง ทำให้เมื่อฝนตกน้ำโขงไม่สามารถหนุนเข้าสู่แม่น้ำอิง น้ำในป่าบุญเรืองไม่ท่วมเหมือนทุกๆ ปีทำให้เกิดความแห้งแล้ง

ขณะที่ นายสุทธิ กล่าวว่า เคยมาสำรวจและนอนค้างในป่าบุญเรืองในจังหวะน้ำกำลังเข้า ทำให้เห็นแมลงกำลังหนีขึ้นที่สูง ถ้าวันนี้เป็นเหมือนเมื่อ 2 ปีก่อนน้ำก็จะท่วม เราสำรวจแค่เพียง 2 วันเจอนกกว่า 90 ชนิด รวมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกกว่า 200 ชนิด ที่นี่คือความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงด้านอาหาร และป่าแห่งนี้สามารถดูดซับคาร์บอนได้มหาศาล ป่าแห่งนี้พิเศษมีความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองเป็น ป่านอกนิยาม เพราะเป็นต้นไม้ที่โตช้าผ่านการเจริญเติบโตอันยาวนาน ถ้าไม่มีน้ำท่วมตามฤดูกาล จะทำให้ป่าเกิดความเปลี่ยนแปลง

“ในป่าบุญเรืองมีดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์คือมีตัว นาก 2 ชนิด มีงูจงอางและเสือปลา เรายังเจอร่องรอยของแมวดาว แค่เรื่องของป่าแห่งนี้มีเอกลักษณ์พิเศษก็สมควรถูกขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแล้ว เพราะป่าแบบนี้ไม่มีที่อื่น”นายสุทธิ กล่าว

นายสมเกียรติ ร่วมให้ความเห็นว่า เคยมาสำรวจป่าผืนนี้เงียบๆรู้สึกได้ว่าป่าแห่งนี้มีวิญญาณ และเมื่อมาเจอคนบ้านบุญเรืองทำให้รู้ว่าสืบทอดจิตวิญญาณมาจากป่าเป็นความรู้สึกที่เหนือธรรมชาติ ถ้าเรามองภาพใหญ่ของแม่น้ำอิงจะเห็นว่ามีความเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขง โดยมีป่าชุมชนที่ชาวบ้านดูแลอยู่ ซึ่งรัศมี 5 กิโลเมตรสองฝั่งแม่น้ำอิงมีพื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 3 แสนไร่ แต่วันนี้เหลืออยู่ 25 แปลงไม่ถึง 1 หมื่นไร่ หากป่าที่เหลือได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำก็จะได้รับการคุ้มครอง หลักการอนุรักษ์คือใช้จารีตชุมชนหากเอาไม่อยู่ก็ต้องใช้หลักกฎหมายที่ไม่เป็นปัญหากับชาวบ้าน

นายยรรยง กล่าวว่า ตนมาจากลุ่มน้ำสงครามที่เป็นระบบนิเวศคล้ายๆ ลุ่มน้ำอิงคือเชื่อมโยงแม่น้ำโขงโดยแม่น้ำสงครามมีป่าบุ่งป่าทามที่กว้างใหญ่และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ป่า จึงได้รับการจัดลำดับขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ บ้านเมืองเรามีกฎหมาย 22 ฉบับปูพรมไว้ แต่กฎหมายเหล่านั้นได้รับการบังคับใช้ไม่มากเท่าที่ควร

นายวิชา กล่าวว่า ป่าลุ่มน้ำอิงมีความเป็น 1 เดียวในประเทศไทยเพราะมีต้นไม้ยืนต้นถูกน้ำท่วมไม่ตายและเป็นป่านอกนิยาม และนิเวศในพื้นที่เป็นตัวกำหนดวิถีชาวบ้าน ทั้งเรื่องเครื่องมือหาปลาและเรื่องอื่นๆ มีเส้นทางนกอพยพ มีนาก ที่สำคัญนิเวศนี้ยังเป็นเส้นทางอพยพของปลา โดยรวมๆแล้วลุ่มน้ำอิงมีเข้าเกณฑ์การเป็นแรมซาไซต์อยู่ 7 อย่างจาก 9 อย่าง ทั้งๆที่เพียงเกณฑ์เดียวก็เป็นแรมซาไซต์ได้แล้ว

พื้นที่ชุมน้ำเป็นแหล่งเดียวที่ชาวบ้านเข้าถึงได้มากที่สุด แตกต่างจากพื้นที่อนุรักษ์อื่นของทางการ มันเป็นความมั่นคงของชาติเพราะเรามีอาหารอยู่ในพื้นที่ ไม่มีกฎหมายพื้นที่ชุ่มน้ำ มีแต่มติคณะรัฐมนตรีที่เขียนว่าห้ามหน่วยงานของรัฐเข้าไปก่อสร้างใดๆทิ้งสิ้น”นายวิชา กล่าว

นางเตือนใจ กล่าวว่า แม่น้ำโขงถูกจัดการโดยรัฐบาลและภาคธุรกิจ แต่ไม่ถูกจัดการโดยประชาชน ถ้าถูกจัดการโดยประชาชนแม่น้ำโขงจะไม่ถูกทำลายเช่นนี้ เพราะประชาชนมีความผูกพันอยู่กับธรรมชาติ ตอนนี้ทำเลสาบเขมรกำลังตาย เช่นเดียวกับพื้นทีปากแม่น้ำโขงในเวียดนามก็กำลังตายเพราะตะกอนในแม่น้ำถูกกัก ดังนั้นประชาชนต้องหาพันธมิตรเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับที่ชุมชนบุญเรือง เพื่อถ่วงดุลกับการพัฒนาที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในยุคโควิดเราต้องหวังพึ่งธรรมชาติ การสร้างเขื่อนอาจไม่มีความจำเป็นแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน