“วราวุธ”รมว.ทส.สั่งเร่งแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ อ.ชะอำ ย้ำต้องยั่งยืน ด้าน“ปลัดจตุพร “เร่งรัดกรมทะเลจัดการด่วน

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศในหลายพื้นที่ได้รับการแก้ไขปัญหาไปแล้ว แต่ยังมีอีกบางพื้นที่ที่ยังประสบปัญหา รวมแล้วกว่า 89 กิโลเมตร ซึ่งมีหลายหน่วยงานพยายามแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร่งด่วน แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและที่อาจจะตามมาเป็นสำคัญ อีกทั้ง ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของการดำเนินการด้วย

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 63 ตนได้มีโอกาสลงพื้นที่พร้อมด้วย นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เนื่องจากเป็นสถานที่ด้านสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศ มีประวัติอันยาวนาน

โดยในพื้นที่นี้มีโครงสร้างในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งสิ้นกว่า 5 ประเภท ทั้งเขื่อนกันทรายและคลื่น 2 ตัว เขื่อนป้องกันนอกชายฝั่งแบบใต้น้ำ รอดักทราย และกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด ความยาวกว่า 2,500 เมตร

โดยตนเข้าใจในเจตนารมณ์ของหน่วยงานที่ก่อสร้าง ทั้งหมดก็เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน แต่ปัจจุบันโครงสร้างดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบ จึงสั่งการให้เร่งดำเนินการแก้ไขอย่างถูกหลักวิชาการและเกิดความยั่งยืน

“การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติมีความมุ่งมั่นดำเนินการโดยยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ หากแต่ขณะนี้เกิดมีผลกระทบที่ตามมาจะด้วยสาเหตุใดก็ตามกระทรวงทรัพยากรฯ พร้อมที่จะแก้ไข เพื่อรักษาสมดุล ของแนวชายฝั่งเพื่อสร้างความสุขให้แก่พี่น้องประชาชนให้ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน”

ในอนาคตโครงการต่างๆจะต้องนำมาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามหลักวิชาการจากคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเสียก่อนที่จะนำไปขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณได้ ซึ่งตนมั่นใจว่าจะสามารถบูรณาการการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปัญหาโครงสร้างต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่งและนอกชายฝั่งที่ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะทำให้บริเวณโดยรอบ บดบังทัศนียภาพ และกีดขวางการเดินเรือ ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวเป็นโครงสร้างที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

สำหรับพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ จ.เพชรบุรี เป็นโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างโดยส่วนราชการอื่นในปี 2549 แล้วเสร็จในปี 2551 ภายหลังจากการก่อสร้างส่งผลกระทบต่อชายฝั่งบริเวณหน้าวัดไทรย้อยและหน้าโรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท

ภายหลังจากการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมนี้ ตนได้มีข้อสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งรัดดำเนินการแก้ไข โดยเร่งด่วนต่อไป

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่าทางกรมฯ ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการเพื่อจัดทำแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดในพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ให้สอดคล้องกับสภาพตามธรรมชาติ ใช้งบประมาณกว่า 2 ล้านบาท เริ่มดำเนินการลงนามในสัญญาตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 63 และมีกำหนดการศึกษาแล้วเสร็จภายในวันที่ 27 มี.ค. 64

พร้อมทั้ง ได้แต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญให้กำกับโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาเพื่อจัดทำแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาด ให้สอดคล้องกับสภาพตามธรรมชาติ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ รวมทั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่ง ได้อย่างละเอียด รอบคอบ ถูกต้องตามหลักวิชาการ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย รวมถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่

“แนวทางสำคัญที่ทางกรมฯ จะเน้นย้ำ คือ การดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจะต้องเป็นไปตามมาตรการ ขาว-เขียว-เทา ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 61 ซึ่งจะมุ่งเน้นความกลมกลืนกับธรรมชาติและความยั่งยืนของการแก้ไขปัญหา”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน