เมื่อเวลา 07.07 วันที่ 26 ก.ย. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการนี้ คุณสิริกิติยา เจนเซ่น พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี โดยเสด็จด้วย โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายอารักษ์ สังหิตกุล อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะทีมวิศวกรที่ปรึกษาวิศวกรรมด้านโครงสร้างพระเมรุมาศ และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ เฝ้าฯรับเสด็จ

ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มายังบริเวณพระที่นั่งทรงธรรม ทรงรับฟังการรายงานความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยมีนายอนันต์ ชูโชติ เป็นผู้ถวายการรายงาน

จากนั้นทรงทอดพระเนตรภายในพระที่นั่งทรงธรรม ที่มีการติดตั้งระบบไฟฟ้า งานประดับตกแต่ง รวมไปถึงความคืบหน้าของการจิตรกรรมฝาผนังโครงการพระราชดำริ ที่ได้ดำเนินการเขียนสีแล้วเสร็จ ขณะนี้ภาพดังกล่าวในตำแหน่งที่ 2 (บริเวณด้านทิศใต้) และตำแหน่งที่ 3 (บริเวณทิศเหนือ) แล้วเสร็จส่วนตำแหน่งที่ 1 (บริเวณผนังกึ่งกลางพระที่นั่งทรงธรรม) อยู่ระหว่างการติดตั้ง

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระเมรุมาศ เพื่อทอดพระเนตรความคืบหน้างานด้านสถาปัตยกรรมการติดตั้งราวบันไดพญานาค บันไดนาคสามเศียร (เห-รา-พด) บันไดนาคชั้นที่สาม ทรงเครื่องห้าเศียร พญาวาสุกรีสวมมงกุฎชัย และบันไดนาคชั้นที่ 4 นาคนิรมิตพญาอนันตนาคราช ประติมากรรมเทวดายอดน้ำเต้า ครุฑยุดนาค และเทพพนม พระพิเนก พระพินาย เทวดานั่งอัญเชิญบังแซ่และพุ่ม ครุฑ

พระพิฆเนศ(พระพิเนก)

รวมไปถึงการติดตั้ง สัตว์หิมพานต์ และ ช้าง 10 ตระกูลบริเวณภายในสระอโนดาต และฉากบังเพลิงประดับพระเมรุมาศ ในด้านทิศตะวันตกที่ได้ติดตั้งกรอบฉากบังเพลิงที่ได้ติดทองคำเปลวประดับกระจก โดยในทิศดังกล่าวเป็นนารายณ์อวตารปางที่ 10 กัลยาวตาร เป็นบุรุษขี่ม้าขาว นารายณ์อวตารปางที่ 8 กฤษณาวตารเป็นพระกฤษณะ และโครงการพระราชดำริหมวดลมและเทพชุมนุม ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจิมสีนพเก้าบนมงกุฎด้านหน้าของพระนารายณ์ปางค์ที่ 8 กฤษณาวตาร (อวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ) 9 จุด บนฉากบังเพลิงด้านทิศตะวันตก เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา

พระพินาย

การนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระดำเนินไปยังศาลาลูกขุน ด้านเหนือ และบริเวณแปลงนา หมายเลข ๙ โดยมีอธิบดีกรมการข้าวเฝ้ารับเสด็จ และพลับพลายก และศาลาลูกขุนศาลาลูกขุน ทอดพระเนตรและรับฟังถวายรายงานความคืบหน้าในส่วนงานประติมากรรม รวมไปถึงประติมากรรมคุณทองแดงและคุณโจโฉ ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและทรงฉายพระรูปหมู่ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลา 08.45 น.

ด้านนายพรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้งานในส่วนของสระอโนดาต ถือว่าเรียบร้อยประมาณ 95-96 เปอร์เซ็นต์แล้ว ได้แก่ ประดับสัตว์ป่าหิมพานต์ลงบนโขดหินที่ทำจากไฟเบอร์กลาส และติดตั้งระบบไอน้ำ ที่จะออกมาเป็นไอควันสีขาว คล้ายกับพระเมรุมาศลอยอยู่บนสรวงสวรรค์ ทั้งยังเป็นการรักษาอุณหภูมิของสระน้ำไม่ให้ร้อนจนเกินไปในช่วงเวลากลางวัน โดยยังเหลือการนำระบบไฟมาติดตั้ง และปลูกต้นไม้ประเภทไทร สนเลื้อย ลงบนโขดหิน

ทั้งนี้ไม่วิตกกังวลเรื่องสภาพอากาศ เนื่องจากประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ยึดติดกับโขดหินแล้วถาวร ไม่โค่นล้มง่ายๆ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้สีหลุดลอกจากการสัมผัสน้ำ จึงต้องสังเกตเป็นระยะหากหลุดลอกจะต้องรีบซ่อมแซม ขณะที่แปลงนาหมายเลข ๙ ก็เสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 95-96 เปอร์เซ็นต์ นำข้าวทั้งหมดลงนาครบถ้วนแล้ว รวมถึงต้นมะม่วงและต้นนายาง ไปจนถึงฝายน้ำล้น เหลือเพียงติดตั้งไฟประดับในเวลากลางคืน

ขณะที่นายกัมพล ตันสัจจา เจ้าของสวนนงนุชพัทยา กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการในวันนี้นำอ่างบัวจำนวน 4 อ่าง ซึ่งแต่ละอ่างมี 7 กระถาง โดยภายในกระถางจะเป็นบัวในลักษณะบัวสีเหลืองและบัวสีขาวเหลือบเหลืองมาติดตั้ง โดยไม้ขนาดใหญ่ดำเนินการลงใกล้แล้วเสร็จ ในส่วนกระถางประเภทต่างๆ จัดวางตามพื้นที่เพื่อเพิ่มความสวยงาม โดยหลังจากวันที่ 1 ต.ค. คาดว่าทุกอย่างจะแล้วเสร็จ ยกเว้นในส่วนดอกดาวเรืองจะมีการเริ่มปลูกในวันที่ 8 ต.ค. ประมาณ 100,000 ต้น โดยจะปลูกภายในกระถางคอกหมู ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5 วัน และเตรียมสำรองพันธุ์ไม้เพิ่มเติม เพื่อความสวยงามโดย ลักษณะการปลูกแบ่งเป็น การปลูกลักษณะลงดินและการปลูกใส่กระถาง ในการจัดส่วนในงานพระราชพิธีในครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเน้นพันธุ์ไม้ที่เป็นสีเหลือง โดยจะรังสรรค์ให้มีในลักษณะของสวนสวรรค์และเน้นความพอเพียงที่สุด

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน