จี้ช่วย มานิ ไร้สัญชาตินับร้อย วอนอย่าเรียกพวกเขา เงาะป่า-ซาไก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ กรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่เยี่ยมชาวมานิ ที่บ้านวังนาใน ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือชาวมานิ

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า ชาวมานิเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้มาเนิ่นนานนับพันปี ไม่ได้เป็นผู้บุกรุกป่า แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ของป่าเทือกเขาบรรทัด รัฐต้องปฏิบัติต่อชาวมานิอย่างคนไทยติดแผ่นดินดั้งเดิม และเคารพต่อวิถีวัฒนธรรมชาวมานิ

ที่ผ่านมามีการเรียกชื่อกลุ่มนี้อย่างไม่ถูกต้องว่า เงาะป่า บ้าง ซาไก บ้าง แม้แต่ในทะเบียนบ้าน ของกรมการปกครองก็เรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มซาไก ซึ่งไม่ถูกต้อง ควรเรียกกลุ่มนี้ว่า “มานิ” ตามที่เขาเรียกตนเอง ซึ่งแปลว่า “คน”

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นางนิตยา ลิ่มวิริยะกุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลละงู กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลเป็นผู้ประสานงานเพื่อให้ชาวมานิได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคนไทย โดยดำเนินการขึ้นทะเบียนเพื่อให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลตามหลักประกันถ้วนหน้า และรวบรวมรายชื่อเด็กอายุแรกเกิดถึง 6 ขวบให้ท้องถิ่นเพื่อดูแล ส่วนผู้สูงอายุก็จะประสานงานเพื่อให้ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ

ด้าน น.ส.ปิยาภรณ์ แก้วชาลุน ปลัดอำเภอหัวหน้างานทะเบียนอำเภอละงู กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ดำเนินการรับแจ้งเกิดเกินกำหนดและเพิ่มชื่อในฐานะคนไทยให้กับชาวมานิที่อพยพจากอำเภอทุ่งหว้า และตกหล่นทางทะเบียนราษฎร จำนวน 17 คน และในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ มีชาวมานิมีรายชื่อที่มีสิทธิเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 24 คน แบ่งเป็นชาย 13 คน และหญิง 11 คน

ปัจจุบันมีชาวมานิในจังหวัดสตูล กระจายในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอมะนัง 36 คน อำเภอทุ่งหว้า 37 คนและอำเภอละงู 78 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับสัญชาติไทยแล้ว

นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ชาวมานิเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่เปราะบางที่สุด ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการแสดงอัตลักษณ์ตัวตนของชาติพันธุ์และเรื่องสัญชาติ

ปัจจุบันมีชาวมานิที่อาศัยอยู่ในเขตป่าเทือกเขาบรรทัดที่ยังไม่ได้รับการสำรวจจัดทำสัญชาติไทยกว่าร้อยคน ที่จำเป็นต้องเข้าถึงเพื่อให้ชาวมานิมีสถานที่ถูกต้องตามกฎหมายและได้รับการคุ้มครองดูแล

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมาธิการฯได้ยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นแล้ว อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เพื่อเป็นกฎหมายที่ช่วยเหลือ คุ้มครองดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย คาดว่าในปี 2564 จะสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน