ภาคีชาวไร่ยาสูบ ร้องรัฐบาล ไม่แก้ไขปัญหาทั้งที่นายกฯรับปาก เงินชดเชยโควตาก็ยังไม่ได้ กมธ.แก้ปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม จี้ทบทวนการขึ้นภาษี 40%

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 23 ม.ค.64 นายกิตติทัศน์ ผาทอง ผู้จัดการภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย ตัวแทนเกษตรกรที่ปลูกยาสูบสายพันธุ์เตอร์กิช เวอร์ยิเนีย และเบอร์เลย์กว่า 3 หมื่นครอบครัวจากจังหวัดภาคอีสาน ภาคเหนือ และ จ.เพชรบูรณ์-สุโขทัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจ่ายเงินชดเชยโควตารับซื้อยาสูบชาวไร่ทวงถามติดตามมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ว่า “ผิดหวังกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาให้กับชาวไร่ยาสูบมาก เพราะจนถึงทุกวันนี้ เงินชดเชยโควตาชาวไร่ยาสูบ 160 ล้านบาท ยังไม่ถึงมือชาวไร่ และยังไม่มีหน่วยงานใดผลักดันเรื่องนี้ให้เราอย่างจริงจัง

อ่านเจอการรายงานข่าวว่าเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ ที่ก็ได้รับเงินเยียวยาจากผลกระทบการระบาดของโควิดไปแล้ว แต่ก็ยังได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม และใช้งบประมาณมากกว่าเงินชดเชยของชาวไร่ยาสูบถึง 10 เท่า เช่นกรณีล่าสุด กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ที่รัฐบาลเพิ่งอนุมัติงบกลาง ประจำปี 2564 จำนวน 1,477 ล้านบาท สำหรับเยียวยาเพิ่มเติม แต่ของพวกเราชาวไร่ยาสูบที่ทวงถามกันมาเป็นปี กลับไม่มีความคืบหน้าเลย”

นายกิตติทัศน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นตัวแทนชาวไร่ยาสูบเข้าไปชี้แจงปัญหากับทางคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม ซึ่งในที่ประชุมก็มีตัวแทนจากกรมสรรพสามิตเข้าร่วมด้วย โดย กมธ. ได้มีข้อสรุปให้สนับสนุนเงินชดเชยเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือชาวไร่และผู้บ่มใบยาสูบให้ประกอบธุรกิจต่อไปได้ ให้ความสำคัญกับเรื่องการปลูกพืชทดแทน และพิจารณาความเหมาะสมของของการขึ้นภาษี 40% ด้วย โดย กมธ. จะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สรรพสามิต กระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนที่เคยมีคำสั่งชะลอการจ่ายเงินชาวไร่ยาสูบไว้

นอกจากนี้ ตัวแทนภาคียาสูบฯ ยังได้เผยถึงผลการสอบถามความคิดเห็นชาวไร่สูบจากทั้ง 3 สามสายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่าได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ปี 2560 อย่างรุนแรง จากการโดนตัดลดโควตาการปลูกยาสูบลงเกือบร้อยละ 50 เมื่อผนวกรวมกับภัยธรรมชาติ และการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกษตรกรชาวไร่ยาสูบร้อยละ 79 มีรายได้จากการปลูกยาสูบลดลงมาก ขณะที่ร้อยละ 21 ระบุมีรายได้ลดลงพอสมควร

“พวกเราอยากให้กรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลชาวไร่ยาสูบโดยตรงเสนอเรื่องเงินชดเชยของพวกเรากลับไปให้ท่านนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ตอนนี้สถานการณ์โควิดก็กลับมาระบาดรุนแรงอีก ชาวไร่ก็ยิ่งได้รับผลกระทบซ้ำซ้อน อยากให้รัฐบาลรีบจ่ายเงินชดเชยให้พวกชาวไร่ จะได้เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ทำให้อาชีพเกษตรมีความมั่นคงมากขึ้นและลดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดทั้งสองรอบ รวมทั้งชะลอการขึ้นภาษีออกไปอีก 3-5 ปีเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ”

ก่อนหน้านี้ นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านเคยให้ความเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องแก้ปัญหาอัตราภาษีบุหรี่อย่างยั่งยืน โดยจัดทำแผนปรับอัตราภาษีให้เหลืออัตราเดียวแบบเป็นขั้นเป็นตอน ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องผลกระทบของชาวไร่ยาสูบ และตัวเลขทางเศรษฐกิจ เช่นอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน