หวั่นวิกฤตมนุษยธรรม แนะรัฐบาลไทย เร่งช่วยเหลือชาวบ้านหนีภัยสู้รบในพม่า เผยเสียงเครื่องบินยังดังเหนือ “เด่ปูโหน่” ทุกวัน ชาวกะเหรี่ยงผวาไม่กล้ากลับชุมชน

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 7 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ชาวกะเหรี่ยงหลายพันคนหนีภัยการสู้รบจากทหารพม่าที่โจมตีทางอากาศหมู่บ้านเด่ปูโหน่ เมืองมือตรอ รัฐกะเหรี่ยงซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางทหารของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) หรือเคเอ็นยู ทำให้ชาวบ้านนับหมื่นคนต้องหลบหนีเข้าไปหลบซ่อนในป่า และหลายพันคนอพยพมาอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่า ที่ อ.สบเมย และอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้หลังจากที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องกดดันให้ทหารไทยยอมเปิดเส้นทางเพื่อนำข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นไปบริจาคให้ชาวบ้านผู้อพยพ จนในที่สุดเมื่อเช้าวันที่ 5 เมษายน ได้อนุญาตให้นำข้าวสารและเสบียงที่มีผู้นำมาบริจาคและกองไว้ที่บ้านแม่สามแลบไปให้ชาวบ้านที่หมู่บ้านแม่นือท่า ฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน

โดยมีชาวบ้านหนีตายมาพังพิงอยู่นับพันคน อย่างไรก็ตามข้าวของบริจาคที่นำมาช่วยเหลือครั้งนี้ ยังไม่เพียงพอสำหรับชาวบ้านที่หลบซ่อนอยู่ โดยสิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดคือข้าวสารและเกลือ

ขณะเดียวกันตลอดทั้งวันที่บริเวณท่าเรือแม่สามแลบ ยังคงมีบุคคลและองค์รต่างๆ นำข้าวของใส่รถกระบะมาช่วยเหลือราว 5-6 คัน โดยทางทหารพรานได้อนุญาตเฉพาะผู้ที่ประสานงานผ่านกาชาด ทำให้ผู้บริจาคบางส่วนที่ตั้งใจนำข้าวของมาช่วยเหลือไม่สามารถผ่านด่านได้

สำหรับสถานการณ์ที่ค่ายผู้อพยพอิตุท่า ตรงข้าม ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง ชาวบ้านที่พลัดถิ่นยังคงไม่กล้ากลับเข้าไปอยู่ในค่าย โดยหลบซ่อนในป่าเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามการที่เกิดฝนตกหนักตลอดทั้งวันทั้งคืนทำให้ต้องเผชิญความลำบากมากขึ้น เนื่องจากไม่มีผ้าใบหรือสิ่งที่ใช้กันฝน โดยเฉพาะเด็กๆ พบว่าเริ่มป่วยไข้มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ยารักษาโรคยังขาดแคลน

แหล่งข่าวจากเคเอ็นยู เปิดเผยว่าในส่วนของฐานที่มั่นทางทหารเคเอ็นยู กองพล 5 ที่บ้านเด่ปูโหน่นั้น ยังมีเสียงเครื่องบินตรวจการณ์ของทหารพม่าดังอยู่ทุกวัน นอกจากนี้ทหารพม่ายังใช้โดรน บินสอดแนมเข้ามาในพื้นที่อยู่เป็นระยะๆ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนที่อยู่โดยรอบ จำนวนรวมราว 1 หมื่นคน ต่างหวาดหวั่นและไม่มีใครกล้ากลับชุมชน โดยส่วนใหญ่ยังคงหลบซ่อนกระจัดกระจายตามป่าเขา ตลอดจนถึงริมแม่น้ำสาละวิน ขณะที่ทางการพม่าได้ขอความร่วมมือมายังทางการไทยขอให้ตัดสัญญาณโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต และสัญญาณไวไฟทั้งหมด

ขณะที่ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรัฐประหารในพม่าเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 2 เดือน แต่คณะนายทหารยังไม่บรรลุเป้าหมายเพราะมีคนออกมาต่อต้านจำนวนมาก จึงต้องใช้วิธีโหดเหี้ยมและไม่ชอบธรรม ขนาดการประชุมระดับสหประชาชาติได้ทักท้วงและให้ความใส่ใจเรื่องพฤติกรรมที่เกินเลยหลายอย่างในวิธีทางทหารโดยไม่คำนึกถึงประชาชน

ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่ารัฐบาลไทยควรวางตัวอย่างไร เพราะประเทศไทยมีพรมแดนติดกับพม่ากว่า 2 พันกิโลเมตร เมื่อมีปัญหาเรื่องชาวบ้านเดือดร้อนย่อมกระทบถึงไทยและอาเซียน แต่อาเซียนไม่ค่อยแข็งแรงเท่าที่ควรที่จะช่วยคลี่คลายเรื่องเลวร้ายไม่ให้เลวร้ายเกินไป และบทบาทรัฐบาลไทยด้วยที่เป็นพลเรือนหลังเลือกตั้ง ความรับผิดชอบสำคัญยิ่งกว่าการมองในความสัมพันธ์ระดับกองทัพต่อกองทัพ

ศ.สุริชัย กล่าวว่า รัฐบาลไทยในสายตาชาวโลกต้องช่วยทำเรื่องไม่ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น ยิ่งใน 1-2 วันที่ผ่านมาเกิดพายุฤดูร้อน สร้างความโหดร้ายมากสำหรับชาวบ้านที่หนีตายหลบซ่อนอยู่ในป่า เพราะไม่มีที่กำบัง สถานการณ์เช่นนี้รัฐบาลไทยมีหน้าที่สำคัญคือต้องมองภารกิจด้านมนุษยธรรมให้เป็นหลัก ไม่ใช่ปล่อยให้ทหารพม่าเอาความโกรธแค้นไประบายลงกับกลุ่มชาวชาติพันธุ์ หรือปล่อยให้ทหารพม่าทำอะไรได้ตามยถากรรม เพราะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ และกลายเป็นความทุกข์แสนสาหัส

“บทบาททหารที่มีความสัมพันธ์กันต่อเนื่อง น่าจะช่วยเรื่องไม่ให้เลวร้ายไปกว่านี้ อย่าให้เราถูกมองว่าปล่อยให้ฝ่ายทหารละเลยต่อพันธกิจต่อโลก เพราะเป็นผลเสียกับประเทศไทย เราควรมองผลประโยชน์ของประเทศไทยที่อยู่กับประชาคมโลกเป็นหลัก เราน่าจะเคารพที่ต้องสู้ต่อความไม่ชอบธรรม

การวางจุดยืนและบทบาทประเทศไทยและกองทัพไทยต้องแยกแยะให้ดี การวางตัวของรัฐบาลไทยยังสามารถช่วยสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายไปกว่านี้ได้ อย่างน้อยตรึงกันไว้ไม่ให้เลวร้ายไปกว่าเดิม ถ้าปล่อยให้เละเทะจะกลายเป็นวิกฤตมนุษยธรรมที่ส่งผลต่อคนอีกจำนวนมาก เราจำเป็นต้องอาศัยกลไกรัฐบาลไทยและอาเซียน เราต้องไม่เอาเรื่องการรบพุ่งเป็นตัวชี้ขาด แต่เอามนุษยธรรมขึ้นมา” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมบทบาทอาเซียนไม่เข้มแข็ง ศ.สุริชัย กล่าวว่า เป็นการติดกับดักของตัวเองที่ประกาศจะไม่แทรกแซงกิจการภายในกันและกัน แต่สถานการณ์ในพม่าเลยเถิดตั้งแต่ทหารยึดอำนาจ แสดงให้เห็นเลยว่าอาเซียนไม่อาจที่จะปล่อยวางได้ หลายประเทศต่างมองว่าผิดหลักการ สิงคโปร์ อินโดนีเซียและ มาเลเซีย

ส่วนประเทศไทย อาจแสดงบทบาทได้ไม่เต็มที่แต่สามารถทำอะไรเงียบๆ ได้ เราน่าใช้ช่องว่างนี้ช่วยแสดงทางออกได้ เราต้องการสร้างสำนึกร่วมในวิกฤตมนุษยธรรมในอาเซียน ไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้นที่แสดงบทบาทนี้ แต่หลายภาคส่วนต้องช่วยกัน ที่ผ่านมาการเจรจาหลายระดับยังขาดความจริงจัง เราต้องการมโนธรรมและสำนึกร่วมกัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดมิคสัญญีขึ้นได้

เมื่อถามอีกว่าประเทศไทยควรจัดตั้งศูนย์เพื่อรองรับประชาชนที่หนีภัยมาจากพม่าตามชายแดนหรือไม่ ศ.สุริชัย กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงบางส่วนคงเตรียมการอยู่ แต่คงไม่ได้คุยกันชัดเจน เพียงแต่หลายภาคส่วนต้องช่วยกันให้มีความเข้าใจโอกาสในหลายรูปแบบ ดังนั้นควรเร่งรัดให้ทุกภาคส่วนช่วยกันหาทางออกเพราะเรามีเคยประสบการณ์ร่วมกันมาแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรลงตัวเลย เงื่อนไขที่เราทำได้ก็ยังขาดความภาวะผู้นำที่จะดำเนินการ เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะสายความมั่นคงอย่างเดียว แต่มีด้านอื่นๆด้วย เพราะคนไทยและพม่ามีความสันพันธ์หลายระดับ เช่น ในระดับมหาวิทยาลัยและภาคส่วนอื่นๆ แต่เรากลับไปแขวนอยู่กับบางหน่วยงาน

“สถานการณ์ในพม่า เราต้องเตรียมความพร่อมด้านความมั่นคง และสังคมร่วมกัน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่ามีหลายระดับ ความร่วมมือเหล่านี้จะเหมือนเป็นฟองน้ำรับผลกระทบร่วมกันได้ เราน่ารองรับความซับซ้อนนี้ได้หากร่วมมือกัน” ศ.สุริชัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน