‘วราวุธ’ ยกเป็น ‘ปีแห่งการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง’ ด้าน’ปลัดจตุพร’ ย้ำแนวทางจัดการปัญหารวดเร็วและยั่งยืน เน้นแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและถูกวิธี

นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและการบริหารจัดการในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศ และได้เริ่มมีแผนและแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งระดับชาติ เป็นครั้งแรกในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554) จากนั้นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งประกอบด้วยมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เนื่องจาก ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจที่จะหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

โดยปีนี้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือแนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของโครงการและให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และได้เห็นชอบแนวทางในการให้ทุกหน่วยงานที่มีแผนงาน โครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เสนอโครงการให้คณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พิจารณากลั่นกรองก่อนเสนอความเห็นให้สำนักงบประมาณ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

ปีนี้ผมถือว่าเป็น ปีแห่งการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจาก เป็นปีที่ประเทศไทยเริ่มมีแนวทางที่ชัดเจนในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบ ภายใต้แนวคิดการจัดการระบบกลุ่มหาด ทั้งในระดับนโยบายชาติ นโยบายรัฐบาล การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มาตรการสำคัญต่างๆ และที่สำคัญสังคมและพี่น้องประชาชนประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการปัญหาอย่างจริงจัง เห็นได้จากความรุนแรงของปัญหาลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. กล่าวเสริมว่า การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตามหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว จังหวัดและหน่วยงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวบรวมและเสนอคณะอนุกรรมการฯ พิจารณา

โดยโครงการที่จะเสนอขอสนับสนุนงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่เสนอเข้ารับการพิจารณา จำนวน 64 โครงการ และผ่านเกณฑ์การพิจารณา ทั้งสิ้น 17 โครงการ ซึ่งเรื่องนี้ได้สั่งการให้นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามผลจากการพิจารณาของสำนักงบประมาณด้วย

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นความท้าทายที่ต้องดำเนินการ ซึ่งจากสถานภาพการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่ชายฝั่งที่ประสบปัญหาการกัดเซาะทั้งหมดมีระยะทางยาว 794.37 กิโลเมตร ได้รับการแก้ไขแล้วเป็นระยะทาง 702.68 กิโลเมตร คงเหลือระยะทางที่รอการแก้ไขจำนวน 87 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไข โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและถูกวิธี โดยไม่ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะฯเพิ่มมากขึ้นเหมือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังได้เตรียมประกาศกฎกระทรวง จำนวน 3 ฉบับ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่และโครงการ ได้แก่ พื้นที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และการกำหนดเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

“สำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอตามขั้นตอนก่อนจะประกาศบังคับใช้ ต่อไป โดยนับจากนี้ จะได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่ยังคงประสบปัญหา และต้องจัดการปัญหาให้ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน” นายจตุพร กล่าวย้ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน